(เพิ่มเติม) TMB ให้ ผถห.กู้ด้อยสิทธิชุดเดิมแลกหุ้นกู้ชุดใหม่-ที่เหลือเสนอขายทั่วไป

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 7, 2009 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า ธนาคารจะออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิชุดใหม่ครั้งที่ 1/2552 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2562 จำนวนไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท ระหว่างวันที่ 19-28 ต.ค.2552 มีเงื่อนไขให้ผู้ออกมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด

ทั้งนี้ ธนาคารจะเสนอซื้อคืนหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ครั้งที่ 12 ที่ครบกำหนดไถ่ถอน 2558 ซึ่งเสนอขายในปี 2548 มูลค่ารวม 8,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการซื้อคืนก่อนครบกำหนด โดยกำหนดให้ผู้ถือหุ้นกู้ที่ประสงค์จะขายคืนหุ้นกู้ด้อยสิทธิครั้งที่ 12 จะต้องจองซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิชุดใหม่ในจำนวนที่เท่ากับหรือมากกว่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิชุดเดิมที่ขายคืน

และหากมีหุ้นกู้ด้อยสิทธิชุดใหม่เหลือจากการจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นกู้ ธนาคารจะได้จัดสรรหุ้นกู้ส่วนที่เหลือดังกล่าวให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปและผู้ลงทุนสถาบันที่ได้จองซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ครั้งที่ 1/2552 ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน เป็นลำดับต่อไป

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB เปิดเผยว่า ธนาคารได้รับอนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ครั้งที่ 1/2552 มีอายุ 10 ปี ซึ่งธนาคารมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด ณ สิ้นปีที่ 5 ในวงเงินรวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ยในปีที่ 1-3 เท่ากับ 5.00% ปีที่ 4-5 เท่ากับ 5.25% และปีที่ 6-10 เท่ากับ 6.50% โดยจ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน

ทั้งนี้ ธนาคารจะเสนอสิทธิให้ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิชุดที่ 12 ของธนาคาร ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในปี พ.ศ. 2558 เพื่อขายคืนหุ้นกู้เดิมที่ถืออยู่และใช้สิทธิจองซื้อหุ้นกู้ใหม่ในจำนวนที่เท่ากัน โดยผู้ถือหุ้นกู้ที่ใช้สิทธิ จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจาก 4% เป็น 5% ในทันที

และหากผู้ถือหุ้นกู้เดิมต้องการที่จะซื้อหุ้นกู้ใหม่เพิ่มจากจำนวนที่ขายคืน ธนาคารก็จะให้สิทธิจัดสรรก่อนผู้ลงทุนรายใหม่ โดยวิธีจัดสรรแบบจองก่อนมีสิทธิก่อน หากมีหุ้นกู้คงเหลือ ธนาคารจึงจะจัดสรรให้แก่ผู้ลงทุนรายใหม่ที่สนใจจองซื้อเป็นลำดับต่อไป โดยจะจัดสรรแบบจองก่อนมีสิทธิก่อนเช่นกัน

นายบุญทักษ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง ธนาคารคาดว่าผลการดำเนินงานของธนาคารจะดีขึ้นเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มกระเตื้องขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ธนาคารมีฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง มีระดับความเพียงพอของเงินกองทุนที่ 15.0% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ 8.5% ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการตามแผนการพัฒนาธนาคารโดยต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2551 เพื่อสร้าง TMB ให้เป็นธนาคารไทยชั้นนำ มาตรฐานระดับโลก เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงและไม่หยุดนิ่ง ซึ่งโครงการหลักที่ได้ดำเนินการแล้ว ประกอบด้วย การปรับโครงสร้างองค์กรโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer-Centric Organization) การนำระบบบริหารจัดความเสี่ยงที่มีมาตรฐานสากลมาใช้ โครงการ HR Transformation หรือการพัฒนาด้านทรัพยากรบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้แก่ธนาคาร เสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่มีความโดดเด่นและตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ