คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)เตรียมทำประชาพิจารณ์การเปิดประมูลใบอนุญาตให้บริการระบบ 3G รอบที่ 2 ภายในปลายเดือนนี้ โดยจะเน้นประเด็นเรื่องราคากลางในการประมูล และคุณสมบัติผู้เข้าประมูล รวมถึงบทบาทของรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมทั้ง 2 แห่ง และนำข้อเสนอแนะของนายกรัฐมนตรีมาร่วมพูดคุยกันด้วย โดยกทช.ยังยืนยันว่าจะยึดกรอบเวลาการประมูลภายในเดือน ธ.ค.นี้
นายสุรนันทน์ วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการ กทช.กล่าวว่า เหตุที่ต้องจัดประชาพิจารณ์รอบ 2 เนื่องจาก กทช.เห็นว่ายังมีข้อติดใจสงสัยในรายละเอียดหลายประเด็น ทั้งในมุมของผู้ประกอบการ นายกรัฐมนตรี และ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) รวมทั้งต้องการนำผลของการทำประชาพิจารณ์ครั้งแรกมาพิจารณา
สำหรับเรื่องที่ติดใจสงสัย ได้แก่ คุณสมบัติผู้เข้าประมูล โดยเฉพาะโครงสร้างการถือหุ้นว่ารูปแบบใดจะถือเป็นบริษัทต่างชาติ รวมถึงราคาเริ่มต้นในการประมูลใบอนุญาต เป็นต้น
"ราคาเริ่มต้นนั้น ขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลขั้นสุดท้าย จะต้องได้ก่อนการทำประชาพิจารณ์รอบ 2 ยืนยันว่าราคาไม่สูงอย่างที่หลายคนกังวล"นายสุรนันทน์ กล่าว
นายสุรนันทน์ กล่าวว่า กทช.เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาว่าผู้เข้าประมูลจะน้อยกว่าจำนวนใบอนุญาต หรือมีจำนวนเท่ากับใบอนุญาต เพราะหลายฝ่ายให้ความสนใจที่จะเข้าประมูล เนื่องจากการได้ใบอนุญาตจะสามารถต่อยอดการทำธุรกิจได้
อนึ่ง ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3 จี ที่เปิดประมูลมีทั้งสิ้น 4 ใบ ได้แก่ ใบอนุญาต 2x15 MHz (ใบอนุญาต A) จำนวน 1 ใบ และใบอนุญาต 2x10 MHz จำนวน 3 ใบ (ใบอนุญาต B, C, และ D) ซึ่งผู้ยื่นประมูลแต่ละรายสามารถยื่นประมูลได้อย่างมากที่สุด 1 ใบอนุญาตในแต่ละรอบ
ส่วนข้อสงสัยว่ารัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมจะเข้าร่วมประมูลได้หรือไม่นั้น นายสุรนันทน์ กล่าวว่า ในส่วนของ บมจ.กสท โทรคมนาคม สามารถเข้าร่วมประมูลได้ เนื่องจากโอนใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2x15 MHz ให้กับ บมจ.ทีโอที ไปแล้ว แต่ในส่วนของ ทีโอที ไม่สามารถเข้าประมูลได้ เพราะถือใบอนุญาตนี้ไว้แล้ว
นายสุรนันทน์ กล่าวว่า หลังจากได้ข้อสรุปการทำประชาพิจารณ์รอบ 2 แล้ว คาดว่าจะสามารถประกาศหลักเณฑ์การประมูลลงในราชกิจจานุเบกษาได้ภายใน 30 วันนับจากนั้น