นายนพปฎล เดชอุดม กรรมการบริษัทย่อย และ ผู้อำนวยการ และ ผู้จัดการทั่วไป บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE) กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่ม TRUE ยังคงเดินหน้าเพื่อเข้าประมูลใบอนุญาต 3G เป็นอันดับแรก แม้ว่าหากทางคณะกรรมการประกอบกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)ยังยืนยันที่จะใช้วิธีประมูลแบบ e-Auction แข่งขันด้านราคาอย่างเดียว ก็จะทำให้เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับ TRUE ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเล็กที่สุดในตลาดขณะนี้
และหาก กทช.ไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เข้าประมูลว่าจะต้องเป็นผู้ประกอบการไทยเท่านั้น ก็เชื่อว่าจะมีต่างชาติโดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่เข้ามาประมูลจำนวนมาก ทั้งจากญี่ปุ่น จีน นอร์เวย์ สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เพราะมองว่าการเป็นเจ้าของโครงข่าย 3G ไม่เพียงเฉพาะการทำธุรกิจ แต่ส่งผลถึงความมั่นคง ซึ่งรัฐวิสาหกิจจากประเทศเหล่านี้มีโอกาสที่จะเข้าประมูล ซึ่งเคยเกิดมาในหลาย ๆ ประเทศแล้ว
"ที่ผ่านมาการประมูล 3G ใน 79 ประเทศทั่วโลกมีเพียง 29 ประเทศที่ใช้ระบบการประมูล อีก 50 ประเทศใช้รูปแบบ Beauty Contest และการจัดสรรให้ผู้ประกอบการรายเดิมเลย ก็ยังยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกกับการใช้ประมูลแข่งขันด้านราคาเพียงอย่างเดียวเพราะจะทำให้ทุกค่ายหันมาให้ราคาไลเซ๋นส์สูง แต่ความสามารถในการลงทุนโครงข่ายกลับลดน้อยลง และจะส่งผลให้ผู้บริโภคต้อเป็นผู้แบกรับภาระมากที่สุด"นายนพปฎล กล่าว
นายนพปฏล กล่าวว่า เรื่องความพร้อมทางการเงินของกลุ่ม TRUE เป็นเรื่องเล็ก เรามีแผนรองรับการระดมเงินทุนจำนวนมาก แต่หากต้องใช้เงินลงทุนเกินกว่าที่คิดไว้ ก็คงมีทางเลือก 2 แนวทาง คือ การเพิ่มทุน TRUE ซึ่งจากที่เคยพูดคุยกับพันธมิตรหลายรายก็ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน เนื่องจากเป็นเจ้าของบริการเคเบิลทีวี บรอดแบนด์ โทรศัพท์พื้นฐาน และ โทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเฉพาะทรูมูฟที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีลูกค้าถึง 16 ล้านรายอยู่ในมือ
ส่วนอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นทางเลือกสุดท้าย คือ การตัดขายธุรกิจทรูมูฟให้กับบริษัทอื่น เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทตั้งใจลงทุนและพยายามพัฒนาทรูมูฟจนมีลูกค้าถึง 16 ล้านราย แต่ก็ต้องประสบปัญหาขาดทุนมาตลอด และทำให้ TRUE ไม่สามารถปันผลได้มาถึง 15-16 ปีแล้ว หากต้องยอมตัดขายทรูมูฟน่าจะเกิดประโยชน์กับผู้ถือหุ้น
"เรายังไม่ได้ตัดสินใจในแนวทางใดจนกว่าจะเห็น IM(ร่างหลักเกณฑ์ประมูลใบอนุญาต 3G)ของ กทช.ที่จะออกมา"นายนพปฎล กล่าว
อนึ่ง ปัจจุบัน TRUE ถือหุ้นใหญ่โดย เครือซีพี 53.5% และ KFW เกือบ 10% ที่เหลือเป็นนักลงทุนรายย่อย
สำหรับภาระหนี้ของ TRUE ในขณะนี้ นายนพปฎล กล่าวว่า ปัจจุบัน TRUE มีหนี้สินกว่า 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเดิมมีแผนจะออกหุ้นกู้เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้ต่างประเทศราว 2-2.5 หมื่นล้านบาท แต่ขณะนี้คงต้องชะลอออกไปก่อน เนื่องจากความเชื่อมั่นในตลาดทุน เริ่มกลับมาทำให้ Yield ค่อนข้างสูง และทำให้การซื้อคืนหนี้ทำได้ลำบาก แต่บริษัทก็ยังมีความสนใจอยู่ นายนพปฎล กล่าวว่า TRUE เห็นด้วยกับแนวทางที่กลุ่มเอกชนและสถาบันการเงินไทยจะร่วมมือกันเสนอซื้อหุ้นบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) คืนจากกองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยได้รับเชิญให้เข้าร่วมเจรจาในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่ผู้บริหาร TRUE ออกมาระบุว่าสนใจจะเข้าซื้อหุ้นบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) นั้น คงยังเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นในช่วงจังหวะนี้ เพราะทั้งสองบริษัทมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นวิสาหกิจต่างชาติทั้งจากนอร์เวย์และสิงคโปร์ ซึ่งมีเงินทุนขนาดใหญ่ เชื่อว่าคงจะไม่ตัดสินใจขายหุ้นทั้งสองบริษัทออกมาง่าย ๆ