นายวิรัช กาญจนพิบูลย์ รองผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ได้รับแจ้งจาก บมจ.ปตท(PTT)ว่า แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชในอ่าวไทยจะสามารถซ่อมแซมท่อส่งก๊าซฯ ให้แล้วเสร็จใช้งานได้ชั่วคราวเพื่อจัดส่งก๊าซฯ ได้ในวันที่ 19 ตุลาคม 2552 ซึ่งในส่วนของ กฟผ. จะได้รับก๊าซฯ เต็มที่ตามปริมาณปกติเพื่อเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ในวันที่ 21 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างวันที่ 12-21 ตุลาคม 2552 นี้ กฟผ.ได้มีการปรับแผนการผลิตไฟฟ้าปกติ ไปใช้แผนการผลิตไฟฟ้าในภาวะฉุกเฉินเพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าของประชาชน โดยปรับเปลี่ยนการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าไปใช้น้ำมันเตาแทน คือ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้ากระบี่ โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าราชบุรี คาดว่าจะใช้น้ำมันเตาประมาณ 82 ล้านลิตรในช่วงวันดังกล่าว
ด้านนายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กรณีแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช ในอ่าวไทย หยุดจ่ายก๊าซฯ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 700 ล้านบาท และมีผลให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที)เพิ่มขึ้นประมาณ 2 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งขณะนี้ได้มีการปรับแผนฉุกเฉิน โดยเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันเตาจากเดิม 3 วัน เป็น 5 วัน เพื่อป้องกันปัญหาการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ
"ขณะนี้ กฟผ. ได้รายงานไปยังนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานบอร์ด กฟผ. รับทราบการปรับแผนดังกล่าวแล้ว"นายสมบัติ กล่าว
ส่วนการชดเชยค่าเสียหายจากการใช้น้ำมันเตาผลิตไฟฟ้า กระทรวงพลังงาน จะหารือกับกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้า(เรกกูเลเตอร์)เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องนี้ต่อไป
นอกจากนี้ กฟผ.เตรียมศึกษาความเหมาะสมในการขยายการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำ บริเวณลำตะคลอง แบบสูบกลับเพิ่มอีก 2 เครื่อง รวมกำลังการผลิต 500 เมกะวัตต์ เพื่อเป็นพลังงานสำรองในการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำไว้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน หากก๊าซหายไปจากระบบผลิตไฟฟ้าเพื่อลดการใช้น้ำมันเตาและเชื้อเพลิงอื่นๆ โดยการใช้พลังน้ำผลิตไฟฟ้า ผลิตไฟฟ้าได้ 4 ชั่วโมง เนื่องจากลำตะคลองมีข้อจำกัดด้านลำน้ำที่ค่อนข้างเล็ก
ขณะที่การใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้า นายสมบัติ กล่าวว่า จะเป็นทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากมีต้นทุนสูงกว่าน้ำมันเตามาก ซึ่งอาจส่งผลต่อค่าไฟฟ้าของประเทศ