(เพิ่มเติม) ฟิทช์คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวปตท.ที่ 'BBB'

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 12, 2009 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Issuer Default Rating - IDR) ของบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) หรือปตท. ที่ระดับ BBB พร้อมกับคงอันดับ IDR สกุลเงินบาทระยะยาวที่ A-, IDR สกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ F3, อันดับเครดิตระยะยาวภายในประเทศที่ AAA(tha), อันดับเครดิตระยะสั้นภายในประเทศที่ F1+(tha) และคงอันดับเครดิตระยะยาวแก่ตราสารหนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิที่ AAA(tha) โดยให้แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

การจัดอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของปตท.ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในประเทศไทย รวมทั้งความสำคัญในฐานะที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักด้านนโยบายความมั่นคงและการพัฒนาด้านพลังงาน ฟิทช์มองว่า PTT ยังสามารถรั้งสถานะการเป็นผู้ผูกขาดในการลำเลียงและการจัดจำหน่ายก๊าซ ผ่านทางเครือข่ายที่ทางบริษัทเป็นผู้จัดตั้ง นอกจากนี้ ปตท.ยังเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยโดยผ่านการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. สผ. นอกจากนี้ ปตท.ยังมีส่วนแบ่งตลาดธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และธุรกิจน้ำมันรายใหญ่สุดของประเทศไทย

การอันดับเครดิตยังได้พิจารณารวมถึงคณะผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเป็นอย่างดี และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัท ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเป็นธุรกิจหลักของปตท.ในการสร้างกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวมถึงการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างคงที่ โดยเป็นผลมาจากสัญญาการจัดจำหน่ายระยะยาวซึ่งมีการกำหนดปริมาณการซื้อขั้นต่ำจากคู่สัญญาในลักษณะ take-or-pay รวมถึงความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนการขายให้แก่ลูกค้า และความผันผวนที่น้อยกว่าของราคาก๊าซธรรมชาติเมื่อเทียบกับราคาน้ำมัน

ฟิทช์มีความเห็นว่า ความแข็งแกร่งของอันดับเครดิตของปตท. ถูกลดทอนลงจากปัจจัยเสี่ยงที่บริษัทต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แผนการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคตของบริษัท ความเสี่ยงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎระเบียบและปัจจัยทางด้านการเมือง รวมถึงความเสี่ยงในด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ปตท.มีอยู่ในระดับหนึ่ง ราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ปรับตัวลดลงน่าจะส่งผลให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของปตท.ลดลง และทำให้อัตราส่วนทางการเงินต่างๆที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตอ่อนแอลงในปี 2552 ฟิทช์ยังกล่าวอีกว่าปตท.มีแผนการลงทุนในโครงการต่างๆในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2552 ถึง 2556) รวมมูลค่า 2.3 แสนล้านบาท ในขณะที่ ปตท. สผ. มีแผนการลงทุนในระยะ 5 ปีข้างหน้ารวมมูลค่า 3.4 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากแผนการลงทุนในระยะ 5 ปีเดิม (ปี 2551 ถึง ปี 2555) ที่ประมาณการไว้เพียง 1.9 แสนล้านบาท อันเป็นผลมาจากการโครงการพัฒนาและผลิตที่เพิ่มขึ้น

ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) ฟิทช์จัดอันดับเครดิตปตท.โดยเริ่มจากการพิจารณาเครดิตของปตท.ในฐานะบริษัทหนึ่ง (Standalone Rating) แล้วจึงพิจารณาถึงปัจจัยเสริมจากความสัมพันธ์ดังกล่าว (Bottom-up Approach) โดยฟิทช์ได้ให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิต Standalone ของปตท. เพื่อสะท้อนถึงการสนับสนุนของรัฐบาลต่อปตท.ในทางอ้อม (Implicit Support) อย่างไรก็ตามเนื่องจากอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศของประเทศไทยปัจจุบันอยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิต Standalone ของปตท. ดังนั้นการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นหนึ่งอันดับจากการสนับสนุนของรัฐบาลต่อปตท.ในทางอ้อมจึงไม่มีผลในกรณีนี้ อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของปตท. ที่ระดับ ‘BBB’ ถูกจำกัดให้เท่ากับอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทยเนื่องจากการที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในปตท. และการที่ธุรกิจหลักส่วนใหญ่ของปตท. ดำเนินงานอยู่ในประเทศไทย

ปตท.และบริษัทย่อยมีผลการดำเนินงานลดลงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยบริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) รวม 61,417 ล้านบาท ลดลง 25.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้สถานะทางการเงินของปตท.อ่อนแอลงเล็กน้อย เนื่องจากหนี้สินที่สูงขึ้นและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ลดลงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า 12 เดือนล่าสุด (Last-twelve-month (LTM) adjusted net debt to EBITDAR) ของบริษัทเพิ่มเป็น 1.8 เท่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 (จาก 1.0 เท่าในปี 2551) และอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินดำเนินงาน 12 เดือนล่าสุด (LTM funds from operations adjusted net leverage) เพิ่มเป็น 2.1 เท่า (จาก 1.1 เท่าในปี 2551)

การลงทุนที่สูงอย่างต่อเนื่องประกอบกับแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทที่น่าจะอ่อนตัวลงในปี 2552 ตามสภาพเศรษฐกิจน่าจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย (Net debt to EBITDA) ของปตท.ในปี 2552 เพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิตามนโยบายทางการเงินของบริษัทที่จะรักษาให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2.0 เท่าของ EBITDA อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าสถานะทางการเงินและสภาพคล่องของบริษัทน่าจะยังคงแข็งแกร่งอยู่ และอัตราส่วนหนี้สินสุทธิของบริษัทน่าจะปรับลดลงมาสอดคล้องกับนโยบายทางการเงินของบริษัทในปี 2553 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ แนวโน้มเครดิตที่มีเสถียรภาพยังสะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าปตท.จะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และสามารถรักษาสถานะทางการเงินให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิต ณ ปัจจุบันของบริษัทได้ตลอดช่วงวัฏจักรของธุรกิจก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน และการคาดการณ์ว่ากระทรวงการคลังจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในปตท.ต่อไป ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของปตท.ได้แก่การเปลี่ยนแปลงในเรื่องกฎระเบียบ การเปลี่ยนสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติและการปรับค่าผ่านท่อก๊าซที่ทำให้ปตท.เสียประโยชน์ อัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการเปลี่ยนอันดับเครดิตของประเทศ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ