รัฐระดมหาแหล่งพลังงานชดเชยก๊าซฯ เจรจา RATCH-BLCP เลื่อนซ่อมบำรุงใหญ่

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 13, 2009 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามการบริหารเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า เหตุการณ์การหยุดส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชเมื่อวันที่ 10 ต.ค.52 เป็นผลจากการตรวจสอบระบบปกติตามมาตรฐาน ซึ่งพบว่าส่วนของท่อส่งก๊าซฯ ที่อยู่ระหว่างวาล์วมีการสึกกร่อน ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยจึงได้มีการหยุดผลิตก๊าซฯ เพื่อทำการซ่อมแซม ส่งผลให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติหายไปจากระบบประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขสถานการณ์การขาดแคลนก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้าอย่างทันท่วงที คณะทำงานติดตามการบริหารเชื้อเพลิงได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ประสานกับแหล่งอื่นในประเทศให้เพิ่มการผลิตก๊าซฯ ในปริมาณ 310 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งประกอบด้วย แหล่ง U123 ของบริษัท เชฟรอน เพิ่มขึ้น 100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยเพิ่มจากการผลิตเดิม 930 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เป็น 1,030 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

รวมทั้ง แหล่งเบญจมาศ ของบริษัทเชฟรอน เช่นกัน ให้เพิ่มขึ้นอีก 70 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือเพิ่มจากเดิมผลิต 100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เป็น 170 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และให้เร่งการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งอาทิตย์เหนือ ของปตท.สผ. เข้าสู่ระบบโดยเร็วที่สุดในปริมาณ 140 ลูกบาศก์ฟุต/วัน

พร้อมกันนั้น ยังมอบหมายให้ ปตท.จัดหาน้ำมันเตาเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ปริมาณรวม 38 ล้านลิตร และให้กรมธุรกิจพลังงานออกประกาศเพื่อห้ามการส่งออกน้ำมันเตาที่มีสัดส่วนกำมะถัน 0.5% ให้ กฟผ.รับซื้อน้ำมันเตาจาก บมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP)ปริมาณ 30 ล้านลิตรสำหรับใช้ในโรงไฟฟ้าพระนครใต้ และเจรจากับบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี(RATCH)ให้เลื่อนการซ่อมบำรุงใหญ่ออกไปอีก 18 วัน ซึ่งทั้งหมดได้รับการตอบรับ และร่วมมือเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ คณะทำงาน ฯ ยังได้ขอให้โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีเจรจากับผู้รับเหมาจากต่างประเทศเพื่อเลื่อนการซ่อมบำรุงใหญ่ออกไปก่อนที่จะเริ่มในวันที่ 14 ต.ค.52 นี้ด้วย ซึ่งหากการเจรจาสำเร็จจะทำให้ลดการใช้น้ำมันเตาได้ถึงวันละ 3 ล้านลิตร

ด้านนายสมพร จองคำ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือสทน. กล่าวว่า แม้ภาครัฐจะเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดีแล้ว แต่การพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ยังมีความเสี่ยงด้านอื่นๆ อยู่ รวมทั้งความเสี่ยงด้านที่แหล่งก๊าซฯ จะหมดไปในอีกไม่กี่ปี

แนวทางลดผลกระทบดังกล่าวนั้น การพัฒนาพลังงานทางเลือกอย่างพลังงานนิวเคลียร์ น่าจะเป็นทางออกหนึ่ง เพราะประเทศไทยมีความพร้อมในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์มาตั้งแต่ปี 2510 หรือกว่า 40 ปีมาแล้ว ซึ่งได้ริเริ่มพร้อมกับประเทศเกาหลี และใต้หวัน ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 ประเทศได้พัฒนาไปไกลแล้ว นอกจากนี้ด้านบุคลากรในประเทศไทยก็ได้มีความพร้อมในการดำเนินการแล้วเช่นกัน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ