โบรกฯคาดกำไรแบงก์ Q3/52 ดีขึ้นQoQ คาดสินเชื่อฟื้นชัด Q4,ยก KTB เด่นสุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 15, 2009 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ คาดผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ไทยไตรมาส 3/52 ออกมาดีกว่าไตรมาส 2/52 แต่ยังลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่ายอดสินเชื่อยังไม่ออกมาไม่ค่อยดี แต่คาดว่าจะขยายตัวชัดเจนขึ้นในไตรมาส 4/52 ยกธนาคารกรุงไทย(KTB)กำไรโดดเด่นสุด เพราะได้รับผลดีการปล่อยสินเชื่อให้กับหน่วยงนภาครัฐและรับเงินปันผลจากกองทุนวายุภักษ์(VAYU1)

น.ส.ศศิกร เจริญสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย)กล่าวว่า ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 7 แห่งช่วงไตรมาส 3/52 คาดว่าจะมีกำไรลดลง 3.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบไตรมาส 2/52

การปล่อยสินเชื่อในไตรมาสนี้ยังไม่ดี เห็นได้จากช่วง 2 เดือนของไตรมาส (ก.ค.-ส.ค.52) การปล่อยสินเชื่อยังลดลง 1% โดยเฉพาะสินเชื่อในกลุ่ม Corporate และธุรกิจเอสเอ็มอี ขณะที่สินเชื่อรายย่อยยังขยายตัวได้ดี

ขณะที่การทำรายได้จากดอกเบี้ย คาดว่ายังปรับตัวดีขึ้นทั้งเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และปีต่อปี แต่รายได้ค่าธรรมเนียมยังไม่ดี ตามการปล่อยสินเชื่อที่หดตัวลง ด้านส่วนต่างดอกเบี้ยรับ(NIM)ยังทรงตัว แต่คุณภาพสินเชื่อดีขึ้นทำให้ธนาคารส่วนใหญ่ยังไม่จำเป็นต้องมีการตั้งสำรองหนี้ในจำนวนที่มาก เนื่องจากระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้

ทั้งนี้ ประเมินว่าในไตรมาส 3/52 การทำกำไรของธนาคารกรุงไทย(KTB)จะโดดเด่นมากที่สุด เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า แม้การปล่อยสินเชื่อจะลดลง แต่ยังมีแรงหนุนจากการปล่อยสินเชื่อภาครัฐ ขณะที่ยังมีรายได้จากดอกเบี้ย และเงินปันผลจากกองทุนรวมวายุภักษ์ ที่ทำให้การทำกำไรของธนาคารไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้นกว่า 60%

"ช่วงไตรมาส 3 เป็นช่วงปกติที่ความต้องการสินเชื่อจะทรงๆ ตัว และจากการที่งบประมาณของรัฐบาลประจำปี 53 ออกมาล่าช้า ทำให้การใช้จ่ายเงินของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจช้า ไปด้วย การปล่อยสินเชื่อในช่วงนี้จึงมีไม่มาก โดยเฉพาะกับธนาคารกรุงไทย" น.ส.ศศิกร กล่าว

ส่วนธนาคารที่ผลประกอบการตกต่ำสุด (จากธนาคารขนาดใหญ่ 7 แห่ง) คือ ธนาคารทหารไทย (TMB) ซึ่งนอกจากการปล่อยสินเชื่อที่ชะลอตัวลงแล้ว ธนาคารยังมีภาระค่าใช้จ่ายจากโครงการเออรี่รีไทร์ ซึ่งมีพนักงานเข้าร่วมโครงการสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ธนาคารจะต้องมีการตัดค่าใช้จ่ายในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น

น.ส.ศศิกร ประเมินว่า ภาพรวมการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์จะโดดเด่นมากขึ้นในไตรมาส 4/52 เนื่องมาจากการปล่อยสินเชื่อจะเร่งตัวขึ้นจากความต้องการสินเชื่อที่มีมากขึ้นตามฤดูกาล ทั้งภาคการส่งออก และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ เพื่อรองรับการบริโภคช่วงปลายปี ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ ตามโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง เริ่มเข้าสู่ระบบแต่ยังเป็นเม็ดเงินไม่มาก

อย่างไรก็ตาม ช่วงไตรมาส 4 แม้เป็นช่วงที่การปล่อยสินเชื่อจะมีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ NIM ดีขึ้นตามไปด้วย แต่ธนาคารพาณิชย์จะยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงตาม ทั้งการพิจารณาการตั้งสำรองหนี้ ที่จะมีมากขึ้นช่วงปลายปี และค่าใช้จ่ายๆอื่น ในการจัดทำแคมเปญ โปรโมชั่นต่างๆ และธนาคารบางแห่ง ต้องมีการจ่ายเงินโบนัสพนักงาน

ส่วน บล.บีฟิท ประเมินว่าไตรมาส 3/52 ธนาคารพาณิชย์ จะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นประมาณ 11% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า แต่หากเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนยังลดลง 1% โดยการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ แม้จะฟื้นตัว แต่ยังมีความเปราะบาง นอกจากนี้ ตัวเลขด้านมหภาค เช่น อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ ก็ยังไม่สนับสนุนการฟื้นตัวของกลุ่มธนาคารเช่นกัน

แต่คาดว่าผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาส 4/52 จะกระเตื้องขึ้นตามฤดูกาลอยู่แล้ว เพราะความต้องการสินเชื่อของผู้ผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรอรับแรงซื้อในช่วงเทศกาลตอนสิ้นปี

สำหรับความสามารถในการทำกำไรของทั้งกลุ่มธนาคารจะยังดีขึ้น โดย NIM ของทั้งธนาคารเฉลี่ยยังกว้างขึ้นอีก 17 bps แต่การขยายตัวดังกล่าวน้อยกว่าในไตรมาส 2/52 ซึ่งมี NIM กว้างขึ้น 21 bps ดังนั้น ปัจจัยที่จะดันกำไรของกลุ่มธนาคารจะมาอยู่ที่การขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยที่ให้ผลตอบแทนที่สูงมากกว่า

ในส่วนของปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาริชย์ คาดว่าไตรมาส 3/52 จะยังคงหดตัวประมาณ 2.71%เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า และทำให้สินเชื่อตั้งแต่ต้นปี 52 จนถึงไตรมาส 3 นี้ หดตัว 4.55% โดยการปล่อยสินเชื่อในระบบยังมีการแกว่งตัว เห็นได้ว่า การปล่อยสินเชื่อบางแดือนกระเตื้องขึ้นแต่เป็นในช่วงสั้น แต่บางเดือนยังหดตัว สะท้อนว่าการปล่อยสินเชื่อในระบบยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะเป็นสัญญาณการกลับมาของสินเชื่อในระยะยาว

ด้านเงินฝากเฉลี่ยแล้วยังพบว่า ยอดเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ลดลง 0.32% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า แต่ธนาคารขนาดใหญ่ยังสามารถดึงเงินฝากกลับมาได้อยู่ โดยคาดว่ากลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง มีเงินฝากรวมกันเพิ่มขึ้น 1.08% และเป็นที่น่าสังเกตว่า ธนาคารบางแห่ง เร่งระดมเงินฝากมากขึ้น โดยการออกเป็นผลิตภัณฑ์รวม (Package) ที่คาดว่าเป็น กลยุทธ์เบื้องต้นในการทำ Cross-Selling โดยการยึด/ขยายฐานลูกค้าให้กว้างไว้ก่อนเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ตามมา ขณะที่สภาพคล่องส่วนเกินยังสูงเพราะยังมีเงินฝากไหลกลับเข้ามา ขณะที่ต้นทุนทางการเงินของกลุ่มธนาคารชะลอการลดลงบ้าง

บล.บีฟิท ประเมินว่า ไตรมาส 3/52 ในการทำกำไรของธนาคารจะกระเตื้องขึ้นจากในไตรมาส 2 เพราะต้นทุนเงินฝากยังลดลงอีกบ้าง โดยธนาคารกรุงไทย(KTB) จะมีกำไรเพิ่มขึ้นเด่นสุดตามฤดูกาล โดยคาดว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 61% เพราะเงินปันผลรับประมาณ 800 ล้านบาท จากกองทุนวายุภักษ์ VAYU1 เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ NIM กว้างขึ้น แม้ว่าคาดว่าสินเชื่อของ KTB จะยังคงหดตัวลงต่ออีก 2% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) คาดว่ากำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้น 7%เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าสินเชื่อของธนาคารจะลดลง 2% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับแรงหนุนจาก NIM ที่กว้างขึ้น จากผลของรีไพรซ์ซิ่งของตั๋วเงินฝากประจำ 6 เดือน และการลดลงของสินเชื่อทำให้ธนาคารปรับเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อในปีนี้เป็น 4%

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) คาดว่ามีกำไรสุทธิในไตรมาส 3/52 เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าสินเชื่อของ KBANK จะเริ่มทรงตัว โดยอาจลดลงเพียง 0.28% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า และ NIM จะเพิ่มขึ้น จากการลดลงของดอกเบี้ยเงินฝาก 6 เดือน ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 7% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) คาดว่าการทำกำไรสุทธิในไตรมาส 3/52 จะยังชะลอตัวลงต่อจากไตรมาสก่อน ขณะที่สินเชื่อจะหดตัวลงต่ออีก 1% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่คาดว่า NIM ของธนาคารจะกว้างขึ้น เนื่องจากเงินปันผลรับในไตรมาส 3/52 และจุดเด่นขอธนาคารในปีนี้ยังคงเน้นที่ความมั่นคงของสินทรัพย์และการปรับต้นทุนให้สอดคล้องกับรายได้ที่ชะลอตัวลง ทำให้อัตราส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมของธนาคาร จาก 51% เหลือ 49%

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) คาดว่าไตรมาส 3/52 จะมีกำไรสุทธิประมาณ 1,000 ล้านบาท ลดลง 6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการปล่อยสินเชื่อจะยังทรงตัว หลังจากช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 3/52(ก.ค.-ส.ค.52)ค่อนข้างนิ่ง

ส่วนสินเชื่อที่ได้จากการซื้อ GE Money คาดว่าจะรวมเข้ามาในไตรมาส 4/52 และจะทำให้การเติบโตของสินเชื่อทั้งปีนี้จะเป็นไปตามเป้าที่ 35,000 ล้านบาท ขณะที่ส่วนต่างของดอกเบี้ยยังคงเป้าหมายในปีนี้ที่ 4% เพราะต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยลดลงต่อเนื่อง แต่ธนาคารยังคงเป้าการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมที่ 10% และคงสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมไว้ที่ 55%

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ประกอบการของธนาคารพาณิช ในไตรมาส 3/52 ที่จะทยอยประกาศออกมา โดยรวมยังเชื่อว่าจะดีขึ้นกว่าไตรมาส 2/52 แต่ยังหดตัวเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน การปล่อยสินเชื่อเริ่มปรับตัวดีขึ้น

การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์หากเทียบไตรมาสต่อไตรมาสน่าจะทรงตัวหรือดีขึ้นได้เล็กน้อย ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว แต่หากเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนจะยังคงหดตัว แม้ความเชื่อมั่นนักลงทุนจะดีขึ้น แต่เม็ดเงินลงทุนยังมีข้อจำกัด ภาคเอกชนยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ และความต้องการสินเชื่อยังอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก และสินเชื่อรายย่อย

แต่คาดว่ายอดการปล่อยสินเชื่อจะเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นชัดเจนในช่วงไตรมาส 4/52 ขณะที่การลงทุนภาครัฐคงไม่ได้หนุนยอดการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มากนัก เพราะเม็ดเงินที่ภาครัฐจะกู้ เป็นจำนวนไม่มากหากเทียบเม็ดเงินลงทุนมหาศาล แต่จะเน้นการระดมเงินวิธีอื่นมากกว่า

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์เริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยนโยบายการให้สินเชื่อในภาคอุตสาหกรรมเริ่มคลี่คลายลง ความเสี่ยงของลูกค้าเริ่มดีขึ้น ทำให้เห็นแนวโน้มที่ธนาคารพาณิชย์ เริ่มผ่อนปรนเงื่อนไขการให้สินเชื่อ

ส่วนรายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ยรับ โดยภาพรวมน่าจะมีโอกาสขยับขึ้น เนื่องมาจากต้นทุนเงินฝากที่ลดลง โดยช่วงปีที่ผ่านมา ได้มีการทยอยปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำลงไปแล้ว ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียม ยังเป็นอีกส่วนของรายได้ของธนาคาร หลังจากรายได้ดอกเบี้ยลดลง ทำให้ธนาคารพาณิชย์เริ่มหันมาหารายได้ค่าธรรมเนียมมากขึ้น ตามทิศทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องมีการแข่งขันกันต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ