(เพิ่มเติม) KBANK คาดสินเชื่อปี 52 อาจโตในช่วง 3-5% จากเป้า 4-5%

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 20, 2009 12:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) คาดว่าสินเชื่อในปีนี้จะเติบโตได้ราว 3-5% จากเป้าที่ตั้งไว้ 4-5% โดยในช่วง 9 เดือนแรกยังหดตัวราว 2% แต่คาดว่าช่วงที่เหลือของปีจะขยายตัวได้มาก

พร้อมมองว่าในช่วงไตรมาส 4/52 การปล่อยสินเชื่อของ KBANK น่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลส่งออกที่ผู้ประกอบการจะเร่งผลิตสินค้า ขณะที่จะมีการเพิ่มสินค้าคงคลังมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้ลดปริมาณสินค้าคงคลัง แต่ขณะนี้เศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาสต่อไตรมาสที่เห็นสัญญาณดีขึ้น ปริมาณการท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้น ทำให้ความต้องการสินเชื่อมีมากขึ้น

นายประสาร ประเมินว่า ระบบธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยราวช่วงปลายปีนี้หรือภายในต้นปี 53 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายราว 0.25% ในช่วงกลางปี 53 แต่เห็นว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

เมื่อมีสัญญาณการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายเชื่อว่าจะทำให้ดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์มีการปรับขึ้นก่อน โดยคาดว่าจะปรับขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 52 ถึงต้นปี 53 ซึ่งอัตราที่ปรับขึ้นอาจมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับการแข่งขันในตลาด

"เมื่อเอกชนเห็นสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความต้องการสินเชื่อที่มีมากขึ้น แม้จะยังไม่เข้มแข็งมากนัก จะทำให้ดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 52 ถึงต้นปี 53" นายประสาร กล่าว

นายประสาร ยังกล่าวถึงผลกระทบจากรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับการลงทุน 76 โครงการชั่วคราวในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดว่า ประเด็นดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารไม่มากนัก เนื่องจากธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อในโครงการมาบตาพุดไม่มาก

แต่ทั้งนี้เป็นห่วงผลกระทบทางอ้อมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการระงับโครงการลงทุนในมาบตาพุดอาจมีผลกระทบเกี่ยวเนื่องกับซัพพลายเออร์ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น เห็นว่ารัฐบาลควรจะมีการสร้างกลไลที่ชัดเจนตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยให้เป็นกลไกการทำงานเพื่อกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งเชื่อว่าภาคเอกชนพร้อมที่จะเข้ามาลงทุน เพื่อสร้างมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม

พร้อมย้ำว่าการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับทั้ง 2 ด้านควบคู่กัน คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการดูแลคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ