ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย(CIMBT) คาดว่าสินเชื่อของธนาคารในปี 52 ในแง่เลวร้ายสุดอาจหดตัว 10% หรือในกรณีดีสุดก็อาจขยายตัวได้ 1% หลังจากที่ 9 เดือนแรกของปีสินเชื่อหดตัวไปแล้วกว่า 12% ขณะที่เป้าหมายเดิมคาดว่าสินเชื่อจะเติบโต 15% ในปีนี้ แต่ยังเชื่อว่าจะสามารถทำกำไรได้ในปีนี้และมีลุ้นจ่ายเงินปันผล
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CIMBT กล่าวว่า ในช่วงเดือนมี.ค.52 ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายการขยายตัวของสินเชื่อไว้ในระดับสูง แต่ปรากฏว่าต้องเผขิญกับกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รวมทั้งธนาคารอยู่ระหว่างการปรับกระบวนการทำงานและปรับโครงสร้างองค์กรทำให้มีการปรับลดเป้าหมายสินเชื่อลงมาอย่างต่อเนื่อง
"ที่ตั้งเป้าสิ้นปี 52 ที่จะโต 1% ถือเป็นเป้าดีเลิศ แต่เชื่อว่าไม่น่าจะทำได้ เพราะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ"นายสุภัค กล่าว
ส่วนสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)นั้น ธนาคารคาดว่าสิ้นปี 52 จะลดลงเหลือต่ำกว่า 10% จาก ณ สิ้นไตรมาส 3/52 อยู่ในระดับ 12% ซึ่งขณะนี้ธนาคารยังไม่มีแผนขายหนี้เสียออกแต่อย่างใด
นายสุภัค กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 1/52 และ ไตรมาส 2/52 ธนาคารมีผลขาดทุนรวมกว่า 500 ล้านบาท แต่ในไตรมาส 3/52 มีผลกำไรกว่า 461 ล้านบาท ทำให้ผลขาดทุน 9 เดือนแรกลดเหลือเพียง 40 กว่าล้านบาทเท่านั้น และไตรมาส 4/52 เชื่อว่าน่าจะมีกำไร ดังนั้น ทั้งปี 52 ธนาคารก็คาดว่าจะมีกำไรในหลักร้อยล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรครั้งแรกในรอบ 3 ปี และทำให้ธนาคารมีโอกาสจ่ายเงินปันผลได้ โดยจะหารือกับผู้ถือหุ้นใหญ่ต่อไป
"กำไรที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะปล่อยสินเชื่อไม่ได้ตามเป้าหมาย แต่เป็นผลมาจากธนาคารมีการควบคุมค่าใช้จ่ายทั้งต้นทุนเงินฝากที่ลดลง และมีการติดตามการบริหารหนี้ที่ดี ทำให้การทำกำไรในปี 52 เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้" นายสุภัค กล่าว
สำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารในไตรมาส 3/52 อยู่ที่ 1,380 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบไตรมาสก่อน แต่ลดลง 23.3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 560 ล้านบาท ลดลง 6.7% เมื่อเทียบไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 226.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ช่วงไตรมาส 3/52 อยู่ที่ 2.4% เพิ่มขึ้นจาก 2% ในไตรมาส 2/52 เป็นผลจากการลดลงของต้นทุนเงินฝากที่เดิมเคยอยู่ที่ 3% เหลือ 1.4% เป็นการลดลงทั้งจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและปริมาณเงินฝาก ขณะที่จนถึงสิ้นปี 52 คาดว่า NIM น่าจะทรงตัวในระดับ 2.4%
แต่ปี 53 คาดว่า NIM น่าจะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารได้วางกลยุทธด้านเงินฝาก โดยตั้งเป้าหมายขยายสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน(CASA)เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 25% ของสัดส่วนเงินฝากรวม และ วางเป้าหมายใน 3 ปีจะเพิ่ม CASA เป็น 40%
นายสุภัค ยังกล่าวถึงการปล่อยสินเชื่อภาครัฐในโครงการไทยเข้มแข็งว่า ปัจจุบันธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อภาคก่อสร้างให้แก่ลูกค้ารับเหมาก่อสร้างชั้นนำหลายราย และมองว่ายังเป็นกลุ่มธุรกิจที่น่าให้การสนับสนุนสินเชื่อต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างที่รับงานจากส่วนราชการ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่เดินหน้าโครงการลงทุน ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อน้อยกว่าผู้รับเหมาที่รับงานเอกชน
"เดิมเรามีพอร์ตสินเชื่อกลุ่มนี้ไม่มาก แต่เห็นว่าปัจจุบันกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างงานส่วนราชการ โดยเฉพาะบริษัทที่มีประสบการณ์ทำงาน หากรับงานแล้วเดินหน้าตามเป้าหมาย ก็ไม่น่าจะมีปัญหา จึงน่าจะมีความเสี่ยงการให้สินเชื่อน้อยกว่าผู้รับเหมาที่รับงานเอกชน" นายสุภัค กล่าว