บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาทของ บมจ.ทุนธนชาต (TCAP)ที่ระดับ “A" ในขณะเดียวกันก็คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ที่ระดับ “A" พร้อมแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
อันดับเครดิต สะท้อนฐานะการเป็นบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งลงทุนในกลุ่มธนชาต ตลอดจนอำนาจการบริหารงานในธนาคารธนชาต ผ่านการถือหุ้น 50.92% และผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลที่ได้รับอย่างสม่ำเสมอจากธนาคารธนชาต ในการให้อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ ระบบการบริหารความเสี่ยงที่ได้มาตรฐาน ฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง รวมถึงการสนับสนุนทางด้านธุรกิจและเงินทุนจากพันธมิตร คือ Bank of Nova Scotia (BNS)
นอกจากนี้ การขยายขอบเขตธุรกิจธนาคารพร้อมกับการขยายจำนวนสาขาที่มากขึ้นจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทั้งในด้านการตลาด ความหลากหลายของธุรกิจ และฐานะทางการเงินของกลุ่มธนชาตในอนาคต อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวยังมีข้อจำกัดจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ตลอดจนการแข่งขัน และความไม่แน่นอนของธุรกิจการธนาคาร เช่าซื้อ และหลักทรัพย์ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจจำกัดความสามารถในการทำกำไรและโอกาสในการขยายตัวทางธุรกิจของกลุ่ม
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายที่บริษัทจะได้รับรายได้จากเงินปันผลที่สม่ำเสมอจากธนาคารธนชาตซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของบริษัท นอกจากนี้ แรงสนับสนุนทางด้านการเงินและความเชี่ยวชาญในการประกอบธุรกิจจากพันธมิตรธุรกิจ ซึ่งได้แก่ BNS และ TCAP จะช่วยส่งเสริมศักยภาพในการดำเนินงานโดยรวมให้แก่ธนาคาร ซึ่งคาดว่าผลประกอบการทางการเงินของบริษัทจะดีขึ้นในอนาคต การเติบโตในอนาคตทั้งจากการขยายธุรกิจหรือการซื้อกิจการหรือร่วมทุนระหว่างบริษัททุนธนชาตและ BNS นั้นมีความเป็นไปได้ ในขณะที่การมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องที่เพียงพอก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
ทริสเรทติ้ง รายงานว่า ณ เดือน มิ.ย.52 เมื่อพิจารณาจากผลประกอบการของกลุ่มธนชาตและรายได้จากการดำเนินธุรกิจที่ไม่รวมรายได้พิเศษจากการขายหุ้นของธนาคารธนชาตให้แก่ BNS นั้น TCAP มีรายได้จากธนาคารธนชาตในสัดส่วนสูงถึง 61% ของรายได้รวมของบริษัท ส่วนอีก 28% มาจากธุรกิจประกันภัย และอีก 7% มาจากธุรกิจหลักของบริษัทและบริษัทบริหารสินทรัพย์ 2 แห่ง คือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ แม๊กซ์ จำกัด และ บริษัทบริหารสินทรัพย์ เอ็น เอฟ เอส จำกัด รายได้จากธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจจัดการกองทุนคิดเป็นสัดส่วน 4% ของรายได้รวมของบริษัท
เมื่อพิจารณาจากขนาดของสินทรัพย์ตามงบการเงินรวม ณ สิ้นเดือนมิ.ย.52 บริษัทจัดอยู่ในอันดับที่ 8 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบทั้ง 12 แห่งของไทย ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดด้านสินเชื่อและเงินฝาก 4.7% บริษัทได้พัฒนาคณะผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพซึ่งนำพาให้บริษัทและบริษัทลูกสามารถแข่งขันได้เป็นอย่างดีในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ ระบบบริหารความเสี่ยงของบริษัทและบริษัทในกลุ่มได้รับการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจธนาคารจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายธุรกิจและทำกำไรของธนาคารธนชาตและบริษัทในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า
ปัจจุบันธนาคารธนชาตดำเนินธุรกิจภายใต้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ ในปี 2550 ธนาคารได้ซื้อบริษัทลูก 8 แห่งจาก TCAP ซึ่งเป็นบริษัทแม่ตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มธนชาต ในเดือน ก.ค.50 TCAP ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันกับ BNS เพื่อลงทุนในธนาคารธนชาต มีผลทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นของธนาคารเปลี่ยนแปลงไป
บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารธนชาตลดลงจาก 99.36% เหลือ 74.92% ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2550 และ BNS ถือหุ้น 24.98% ในวันที่ 3 ก.พ.52 TCAP ได้ขายหุ้นสามัญในธนาคารธนชาตเพิ่มให้แก่ BNS ตามข้อตกลงการถือหุ้นจำนวน 416,526,737 หุ้นที่ราคา 18.38 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็น 1.6 เท่าของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหุ้น รวมมูลค่า 7,656 ล้านบาท TCAP บันทึกกำไรจากการขายเงินลงทุนเท่ากับ 2,800 ล้านบาท ธุรกรรมดังกล่าวทำให้ BNS มีสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารธนชาตเพิ่มขึ้นเป็น 48.99% ในขณะที่ TCAP คงสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารธนชาต 50.92%
ธนาคารธนชาตมีฐานรายได้ที่กระจายตัวทั้งจากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ซึ่งสอดคล้องกับธุรกิจธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ โดยมีรายได้ดอกเบี้ยในสัดส่วน 59% ของรายได้รวมจากผลของการมีสถานะเป็นผู้นำทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นสำคัญ
สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยนั้น ธนาคารมีรายได้จากธุรกิจประกันภัยในสัดส่วนมากที่สุด ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของธนาคารอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต ดังจะเห็นได้จากการที่ธนาคารมีรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย/ประกันชีวิตในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เป็นจำนวนเงิน 905 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18% ของกำไรก่อนภาษี ซึ่งรายได้ดังกล่าวช่วยให้ธนาคารสามารถคงระดับความสามารถในการทำกำไรได้ในยามที่ธนาคารต้องมีภาระการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว