นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ในฐานะกรรมการ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสลากฯ ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานวันนี้ ได้ตีกลับมาตรการเยียวยาผลกระทบทางสังคมการเดินหน้าโครงการขายสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัวด้วยเครื่องขายสลากอัตโนมัติ(หวยออนไลน์) โดยให้มีการปรับปรุงมาตรการให้เป็นรูปธรรมให้ชัดเจนมากขึ้น
เนื่องจากสำนักงานสลากฯ ได้มีการเสนอจัดตั้งกองทุนผู้ได้รับผลกระทบจากหวยออนไลน์ แต่เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจและขอบเขตตามกฏหมายที่สำนักงานสลากฯ จะสามารถจัดตั้งกองทุนได้หรือไม่ เนื่องจากรายได้จากหวยออนไลน์จะต้องส่งเข้าเป็นรายได้ของรัฐ หากจัดสรรมาจัดตั้งกองทุนอาจผิดกฏหมาย ที่ประชุมฯ จึงได้ให้สำนักงานสลากฯ กลับไปทบทวนในเรื่องนี้
ส่วนมาตรการเยียวยา ซึ่งมีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว นายนครินทร์ ยอมรับว่า หลายมาตรการสามารถดำเนินการได้ทันที เช่น การตั้งศูนย์ฮอตไลน์ ขณะที่ผลกระทบป้องกันเด็กและเยาวชนนั้นให้มีการการสร้างความชัดเจนเช่นกัน โดยให้นำเสนอในที่ประชุมบอร์ดครั้งหน้า
"ท่านประธานได้ให้ดูมาตรการเยียวยาให้เป็นรูปธรรมและสามารถนำไปปฎิบัติได้จริง ไม่ใช่ทำเป็นสัญญาลอยๆ เช่นการตั้งกองทุนเป็นอำนาจที่สำนักงานฯทำได้หรือไม่"นายนครินทร์ กล่าว
กรรมการสลากฯ กล่าวยืนยันว่า สำนักงานสลากฯยังต้องการเดินหน้าโครงการขายหวยออนไลน์ โดยล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการสลากฯวันนี้อนุมัติให้ต่อสัญญาเช่าอาคาร บมจ.กสท.โทรคมนาคม(CAT)ที่บางรักอีก 1 ปี เพื่อใช้เป็นศูนย์ดูแลระบบซอฟแวร์ของหวยออนไลน์ ซึ่งถือเป็นข้อผูกพันของสำนักงานสลากฯต่อโครงการหวยออนไลน์ และยังหวังว่าโครงการหวยออนไลน์น่าจะเปิดขายได้ภายในสิ้นปี 52
และในการประชุมคณะกรรมการสลากฯ ครั้งหน้า สำนักงานสลากฯ จะได้เชิญ นายสุขุม เฉลยทรัพย์ ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ในฐานะประธานดำเนินงานสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการหวยออนไลน์ ได้ชี้แจงผลสรุปของผลสำรวจต่อที่ประชุมด้วย
นอกจากนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการสลากฯวันนี้ ยังได้มีมติให้สำนักงานสลากฯวางหลักเกณฑ์ในการจัดสรรโควต้าสลากฯใหม่ โดยให้นำผลสังเคราะห์ใน 2 ด้านคือคณะอนุกรรมการปราบปรามการขายสลากฯเกินราคา อนุกรรมการวางหลักเกณฑ์จัดสรรสลากฯ เพื่อให้มีการแบ่งโควต้าการขายสลากที่เข้มข้นขึ้น โดยต้องการลดสัดส่วนการจัดสรรโควต้าสลากฯในส่วนของผู้จำหน่ายรายย่อย ที่มีถึง 40,000 ราย แต่รับโควต้าสลากฯถึง 70%ของสลากที่พิมพ์ขายแต่ละงวด ที่เหลือ 50% เป็นของสมาคม มูลนิธิ องค์กรการกุศล 70 แห่ง 25% และ นิติบุคคล 25% โดยให้เสนอหลักเกณฑ์ต่อที่ประชุมคณะกรรมการสลากฯในการประชุมครั้งหน้าเช่นกัน
"โควต้าสลากฯได้หมดสัญญาไปแล้วตั้งแต่ ก.พ.50 แต่ไม่รู้ว่าสำนักงานสลากฯมีการขายสลากฯมาจนถึงวันนี้อย่างไรโดยไม่มีสัญญา...ตอนนี้จัดสรรโควต้ากันแบบโบราณ รายย่อยมีถึง 70% บางคนรับงวดละ 1-2 เล่มเท่านั้น พวกนี้ก็รับไปขายต่อ เราก็ต้องการลดจำนวนลง ส่วนสมาคม มูลนิธิ องค์กรการกุศล บางแห่งก็ไม่ได้เสียภาษี ไม่ได้จดทะเบียนขอยกเว้นภาษี เราก็อยากจะดูว่ามีรายชื่อสมาชิกอย่างไร ให้แนบมาด้วย" กรรมการสลากฯ กล่าว