นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP)หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า โครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย-บี 17 ซึ่ง ปตท.สผ. มีสัดส่วนถือหุ้น 50% คาดว่าจะสามารถเริ่มทำการผลิตก๊าซฯจากแหล่งมูดาและเจงก้าได้ปลายปีนี้ ในอัตราการผลิตเริ่มต้นที่ 135 ลูกบาศก์ฟุต/วัน
แหล่งดังกล่าวได้เสร็จสิ้นการดำเนินงานติดตั้งแท่นผลิตกลาง แท่นพักอาศัย แท่นปล่องเผาก๊าซฯ สะพานเชื่อม แท่นหลุมผลิต ท่อส่งก๊าซระหว่างแท่นหลุมผลิตและแท่นผลิตกลาง และเรือกักเก็บปิโตรเลียม รวมทั้ง ได้มีการทดสอบการไหลของก๊าซฯ บนแท่นหลุมผลิต และทดสอบการทำงานของแท่นผลิตกลางตามแผนงานที่กำหนดไว้
สำหรับผลดำเนินงานไตรมาส 3/52 ว่า PTTEP และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิรวม 5,259 ล้านบาท ลดลง 7,725 ล้านบาท หรือ 59% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 12,984 ล้านบาท และมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (Return on shareholders’ equity) ในอัตราร้อยละ 15
ทั้งนี้ PTTEP และบริษัทย่อยมีรายได้รวม 30,769 ล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 42,434 ล้านบาท ลดลง 11,665 ล้านบาท หรือ 27% ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาผลิตภัณฑ์เฉลี่ยลดลงในไตรมาสนี้เป็น 39.90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบตามราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 54.52 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ แม้ในไตรมาสนี้อัตราแลกเปลี่ยนในการขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 34.31 บาท/เหรียญสหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 33.65 บาท/เหรียญสหรัฐก็ตาม
นอกจากนั้น ปริมาณการขายในไตรมาสนี้ลดลงเป็น 234,601 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วันเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการขายไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 240,839 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน โดยปริมาณขายที่ลดลงส่วนใหญ่มาจากโครงการอาทิตย์หยุดผลิตเพื่อซ่อมแซมประจำปีและการเรียกก๊าซฯ ของโครงการไพลินลดลง
อย่างไรก็ตาม ปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติโครงการอาทิตย์เหนือ รวมถึงปริมาณการขายน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของโครงการเวียดนาม 9-2 และโครงการบี 8/32 และ 9 เอ เพิ่มขึ้น
ส่วนค่าใช้จ่ายในไตรมาสนี้รวมทั้งสิ้น 22,420 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 18,633 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,787 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการควบคุมสถานการณ์การรั่วไหลของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในแหล่งมอนทาราของโครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเชียให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ รวมถึงรายจ่ายที่เกิดจากการที่งานพัฒนาแหล่งมอนทาราต้องล่าช้าออกไป
บริษัทฯ จึงต้องประเมินค่าใช้จ่ายดังกล่าวตามมาตรฐานการบัญชี เรื่องประมาณการหนี้สิน หนี้สินที่อาจเกิดขึ้น และสินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้น และตัดเป็นค่าใช่จ่ายในงบการเงินทันทีในไตรมาสที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ดังนั้น ในไตรมาส 3/52 นี้ บริษัทฯ จึงมีการบันทึกค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,174 ล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวสามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายทางภาษีได้
บริษัทฯ มีการจัดทำประกันภัยคุ้มครองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะนี้ ปตท.สผ.อยู่ในขั้นตอนเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหายจากผู้รับประกันภัย โดยคาดว่าจะเริ่มรับค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยซึ่งจะเข้ามาเป็นรายได้ในไตรมาสต่อ ๆ ไป