บมจ.ไทยออยล์ (TOP)คาดว่าในปี 52 กำไรของบริษัทจะสูงกว่าที่โบรกเกอร์ประเมินไว้ที่ราว 9 พันล้านบาท เนื่องจาก 8 เดือนแรกทำกำไรได้แล้ว 8 พันล้านบาท
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 3/52 ผลประกอบการของบริษัทยังน่าจะออกมาดี เนื่องจากมาร์จิ้นอะโรเมติกส์ปรับตัวดีขึ้นมาเป็น 159 เหรียญสหรัฐ/ตัน สูงกว่าไตรมาส 2/52 ที่อยู่ในระดับ 155 เหรียญสหรัฐ/ตัน แม้ว่ากำไรจากการกลั่น(GRM)จะต่ำกว่า 5.7 เหรียญ/บาร์เรลจากในไตรมาส 2/52
"แม้ว่าค่าการกลั่นน้ำมันจะไม่ดีนักซึ่งเป็นไปตามสภาวะของธุรกิจโรงกลั่นทั่วโลก แต่บริษัทยังคงมีผลประกอบการที่ดีในด้านอะโรเมติกส์ ทำให้ค่าการกลั่นรวมเฉลี่ยทั้งโรงกลั่นและอะโรเมติกส์ยังดีแต่ต่ำกว่าไตรมาส 2/52 ที่ค่าการกลั่นเฉลี่ยที่ 5.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ไตรมาส 3/52 บริษัทมีกำไรจากสต็อกน้ำมันอีก 80 เซนต์ต่บาร์เรล อีกด้วย"นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของ TOP กล่าว
ส่วนในไตรมาส 4/52 บริษัทยังคงสามารถเดินเครื่องกลั่นน้ำมัน 100% ของกำลังการกลั่น แม้ว่าโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งทั่วโลกได้ปรับลดการผลิตลงเนื่องจากปริมาณการใช้น้ำมันยังไม่สอดคล้องกับปริมาณการกลั่น ขณะที่บริษัทยังคงไม่เปลี่ยนแผนการผลิตรวมทั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้และไม่มีแผนการปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักรด้วย และเชื่อว่าสถานการณ์การการขาดทุนจากสต็อกน้ำมันอย่างรุนแรงเหมือนไตรมาส 4/51 คงไม่เกิดขึ้นอีก
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ TOP กล่าวว่า บริษัทยังคงเน้นสร้างรายได้จากธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจโรงกลั่น ปิโตรเคมี และ โรงไฟฟ้า โดยบุคลากรของ TOP ต่างมีศักยภาพและความยืดหยุ่นสูง รวมทั้งระบบการผลิตได้มีการปรับปรุงแล้วเสร็จ ทำให้เป็นบริษัทที่มีศักยภาพในการผลิต โดยไม่ต้องพึ่งพาบริษัทอื่น และแผนการปรับปรุงคุณภาพเพิ่มเติม ทั้งการขยายกำลังการผลิตโรงกลั่นจากปัจจุบัน 2.75 แสนบาร์เรล/วันเป็น 3 แสนบาร์เรล/วันยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ รวมทั้งการอัพเกรดโรงอะโรเมติกส์ยังคงเป็นแผนระยะยาว
สำหรับการดำเนินธุรกิจในปี 53 บริษัทจะมีการลงทุนในโครงการต่อเนื่องราว 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้แก่ โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 4 จำนวนประมาณ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ และ โครงการของบริษัท ไทยลูปเบส มูลค่าการลงทุน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนการต่อยอดธุรกิจโดยการไปลงทุนโดยตรงยังต่างประเทศบริษัทยังคงเปิดโอกาสต่อเนื่อง แต่ต้องดูจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม เนื่องจากธุรกิจโรงกลั่นยังไม่ฟื้นตัวดีนัก แต่ยอมรับว่าในช่วงเวลาที่ธุรกิจโรงกลั่นทั่วโลกหลายแห่งประสบปัญหาอาจเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุน
นายสุรงค์ กล่าววา การเข้ามารับตำแหน่งใน TOP นั้นจะเร่งพัฒนาระบบการจัดจำหน่ายของบริษัทให้เชื่อมโยงกับกลุ่มปตท.โดยใช้ฐานการจัดจำหน่ายในประเทศเวียดนาม ฟิลิปินส์ สิงคโปร์ รวมทั้งมีแผนเพิ่มขนาดกองเรือจากปัจจุบันที่มีอยู่ 6-7 ลำ แต่ยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และขออนุมัติจากกรรมการบริษัทเสียก่อน
ขณะที่การควบรวมกิจการโรงกลั่นในกลุ่มปตท. นั้น เชื่อว่า TOP จะเป็นรายสุดท้ายที่จะควบรวมกับกลุ่มโรงกลั่นในเครือ บมจ. ปตท.(PTT) เนื่องจากมองว่าบมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) บมจ. ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR) และ บมจ.ปตท.เคมิคอล (PTTCH) มีความเป็นไปได้ที่จะควบรวมกันก่อน เพราะที่ตั้งอยู่ใน อ.มาบตาพุด จ.ระยอง เหมือนกันทั้ง 3 ราย ขณะที่ TOP อยู่ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งห่างออกมามาก