นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) เปิดเผยว่า มั่นใจกำไรสุทธิในปีนี้จะทะลุถึง 3,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน
สถิติกำไรสุทธิสูงสุดของบริษัทที่ผ่านมาคือ ปี 2546 ที่มีกำไรสุทธิทั้งปีเท่ากับ 2,279 ล้านบาท ในส่วนของตัวเลขผลประกอบการในไตรมาส 3 นี้ บริษัทยังมีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
"ปีนี้จะเป็นปีที่บริษัทสามารถทุบสถิติการทำกำไรสุทธิ และต้องจดบันทึกสถิติใหม่ว่า เป็นปีที่มีกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์" นายธีระพงศ์ กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ประจำปี 2552 บริษัทสามารถทำกำไรสุทธิเท่ากับ 1,017.9 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3 ของปี 2551 ที่ทำกำไรสุทธิเท่ากับ 911.9 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 1.15 บาท เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปีก่อนที่เท่ากับ 1.03 บาท
ในส่วนของรายได้จากการขายทั้งในรูปเงินบาทและเงินเหรียญสหรัฐมีการลดลงเพียงเล็กน้อย โดยรายได้จากการขายในรูปของเงินบาทเท่ากับ 16,931.4 ล้านบาท ลดลง 8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 ที่มีรายได้เท่ากับ 18,430.7 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการขายในรูปของเงินเหรียญสหรัฐลดลงจาก 544.9 ล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาส 3 ปี 2551 เป็น 499.8 ล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาส 3 ปี 2552 หรือลดลง 8% ขณะเดียวกันรายได้รวมของไตรมาสนี้เท่ากับ 17,217.9 ล้านบาท ลดลง 7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวมเท่ากับ 18,548.5 ล้านบาท
สำหรับสัดส่วนยอดขายตามผลิตภัณฑ์ในไตรมาส 3 ปี 2552 ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ายังคงสูงเป็นอันดับหนึ่งโดยมีสัดส่วน 43% อันดับสองได้แก่ กุ้งแช่แข็ง 21% รองลงมาคือ อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง 8% อาหารแมวบรรจุกระป๋อง 8% อาหารกุ้ง 7% ผลิตภัณฑ์ในประเทศ 6% ปลาซาร์ดีนบรรจุกระป๋อง 4% และปลาหมึกแช่แข็ง 3% ตลาดส่งออกหลักอันดับหนึ่งคือ สหรัฐอเมริกา 49% อันดับ 2 ญี่ปุ่น 12% ตามมาด้วยสหภาพยุโรป 11% อัฟริกา 5% ตะวันออกกลาง 3% โอเชียเนีย 3% เอเชีย 2% แคนาดา 1% อเมริกาใต้ 1% และขายในประเทศ 13%
นอกจากนี้ นายธีรพงศ์ ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าโรงงานแห่งใหม่ในอเมริกาว่า หลังจากที่ได้ทำแผนปรับโครงสร้างโรงงานที่อเมริกันซามัว โดยได้ทำการย้ายฐานการผลิตจากอเมริกันซามัวไปยังโรงงานแห่งใหม่ที่รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะนี้โรงงานแห่งใหม่ได้แล้วเสร็จ และเริ่มดำเนินการผลิตแล้ว สำหรับโรงงานนี้จะดำเนินการผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋อง โดยมีกำลังการผลิต 4,000,000 หีบต่อปี ส่วนโรงงานเดิมที่ซามัวนั้น จะใช้เป็นห้องเย็นเพื่อเก็บวัตถุดิบแทน จากแผนงานดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนในการผลิตลดลง และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ดีขึ้นอีกด้วย
“แม้ว่าในไตรมาสนี้ จะมีการบันทึกค่าใช้จ่ายในการปิดโรงงานที่อเมริกันซามัวในส่วนที่เหลือกว่า 7 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริหารสูงขึ้นกว่าปกติ แต่บริษัทก็ยังสามารถทำกำไรสุทธิเติบโตได้อย่างโดดเด่น ส่วนตัวเลขยอดขายในรูปของเงินเหรียญสหรัฐและในรูปของเงินบาท แม้จะเติบโตไม่มากนักในไตรมาสนี้ เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่ปรับลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทำให้ต้องปรับราคาขายลงมา แต่ในขณะเดียวกันสัดส่วนยอดขายของสินค้ามูลค่าเพิ่มมีการเติบโตขึ้นมาก ทั้งนี้เป็นผลมาจากการมีฐานการตลาดที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นจุดแข็งทำให้สินค้าสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับบริษัทย่อยที่มีการเติบโตในเกณฑ์ที่ดี จึงทำให้ภาพรวมของมาร์จิ้นในไตรมาสนี้ดีขึ้นอย่างน่าพอใจ อย่างไรก็ดี บริษัทมั่นใจว่า จะยังสามารถสร้างอัตราการเติบโตของยอดขายและกำไรได้ดีอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน" นายธีรพงศ์ กล่าว
ขณะที่ตัวเลขภาพรวมช่วง 9 เดือน บริษัทสามารถทำกำไรสุทธิไปแล้ว 2,625.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 1,893.4 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายช่วง 9 เดือนในรูปของเงินบาทเท่ากับ 51,792.8 ล้านบาท เติบโตขึ้น 2% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มียอดขายเท่ากับ 50,638.6 ล้านบาท ส่วนยอดขายในรูปเงินของเหรียญสหรัฐนั้นลดลงเพียงเล็กน้อยจาก 1,541.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 9 เดือนของปี 2551 มาอยู่ที่ 1,495.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลง 3% สำหรับช่วง 9 เดือนของปีนี้ สำหรับรายได้รวมช่วง 9 เดือนนั้น บริษัทยังมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 3% จาก 51,080.3 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 มาอยู่ที่ 52,416.5 ล้านบาทในปีนี้