ทริสเรทติ้ง ปรับเพิ่มเครดิตองค์กร STEC เป็น BBB แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 28, 2009 10:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) เป็นระดับ “BBB" จากเดิม “BBB-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตที่ปรับขึ้นสะท้อนถึงฐานะทางการเงินของบริษัทที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและการที่ผู้บริหารมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการรับงานใหม่อย่างระมัดระวัง

อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ 3 รายของประเทศ ตลอดจนความเชี่ยวชาญในงานรับเหมาติดตั้งระบบวิศวกรรมสำหรับโรงไฟฟ้าและโรงงานปิโตรเคมี ผลงานที่ได้รับการยอมรับมานานทั้งจากภาครัฐและเอกชน และความพร้อมที่จะรับงานจากภาครัฐตามโนยบายการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงของการมีต้นทุนค่าก่อสร้างที่สูงกว่าประมาณการในโครงการที่มีระยะเวลาก่อสร้างนานและมีลักษณะสัญญาต่อหน่วยแบบคงที่ (Fixed-unit-price Contract) ตลอดจนแรงกดดันอย่างต่อเนื่องที่มีต่ออัตรากำไรต่อหน่วยของงานก่อสร้าง จำนวนโครงการของงานก่อสร้างที่ยังไม่ส่งมอบที่มีน้อย และความเสี่ยงของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่มีความผันผวนและเป็นวัฏจักรขึ้นลง

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable“ หรือ “คงที่" สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จะรักษาสถานะของงบดุลและโครงสร้างทางการเงินให้แข็งแกร่งต่อไปได้ในช่วงที่ธุรกิจอยู่ในภาวะยากลำบาก อีกทั้งบริษัทจะดำรงนโยบายที่ระมัดระวังในการประมูลโครงการใหม่ๆ เพื่อรักษาอัตรากำไรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นนำของประเทศซึ่งมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในโครงการก่อสร้างของทั้งภาครัฐและเอกชน โดยได้รับใบอนุญาตประเภทผู้รับเหมาชั้นหนึ่งจากหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจเกือบทุกแห่ง แม้ว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะมีผู้ประกอบการจำนวนมาก แต่บริษัทก็ได้รับประโยชน์จากลักษณะของการเข้าสู่ธุรกิจที่ยากลำบากเนื่องจากเป็นหนึ่งในผู้รับเหมาจำนวนน้อยที่ผ่านเกณฑ์เบื้องต้นในการได้รับสิทธิเข้าประมูลโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากผลงานที่ได้รับการยอมรับและการได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินหลายแห่งแล้วน่าจะทำให้บริษัทมีโอกาสที่จะชนะการประมูลในโครงการขนาดใหญ่ภายใต้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่น่าเป็นห่วงคือความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่อาจมีผลทำให้การดำเนินโครงการดังกล่าวล่าช้า นอกเหนือจากงานก่อสร้างสาธารณูปโภคแล้ว บริษัทยังมีชื่อเสียงในด้านงานรับเหมาติดตั้งงานระบบวิศวกรรมสำหรับโรงไฟฟ้าและโรงงานปิโตรเคมี ตลอดจนงานท่อ และงานประกอบและติดตั้งโครงสร้างเหล็กด้วย ในปี 2551 บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการก่อสร้างงานทั้ง 3 ประเภท คือ งานสาธารณูปโภค : อาคาร : พลังงาน อยู่ที่ 47:24:11 โดยประมาณ 75% ของรายได้ค่าก่อสร้างในปีดังกล่าวมาจากโครงการก่อสร้างภาครัฐ ณ เดือนกรกฎาคม 2552 บริษัทมีงานในมือที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) คิดเป็นมูลค่า 7,975 ล้านบาท ลดลง 34% จาก 12,100 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551

อย่างไรก็ตาม หากรวมมูลค่างานที่บริษัทชนะการประมูลแต่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญา มูลค่าของงานก่อสร้างในมือจะเพิ่มขึ้นเป็น 23,860 ล้านบาท

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ผลประกอบการของบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่นปรับตัวดีขึ้นโดยลำดับจากที่มีผลขาดทุนอย่างหนักในปี 2549 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจาก -8.81% ในปี 2549 มาอยู่ที่ 5.29% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 จะปรับตัวดียิ่งขึ้นเนื่องจากโครงการก่อสร้างที่ไม่มีกำไรใกล้แล้วเสร็จ โดยงานก่อสร้างที่มีอัตรากำไรดีเช่นงานโครงสร้างเหล็กจะเป็นรายได้หลักของบริษัทในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทน่าจะมีความผันผวนเนื่องจากงานก่อสร้างในมือทั้งหมดมีการทำสัญญาต่อหน่วยแบบ คงที่ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเกิดจากการเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้าง ความล่าช้าในการก่อสร้าง หรือเหตุการณ์นอกเหนือความคาดหมายต่างๆ นั้นผู้รับเหมาต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพคล่องแล้วทำให้เชื่อว่าบริษัทน่าจะสามารถลดทอนความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้างได้บางส่วนโดยการทำสัญญาซื้อวัสดุก่อสร้างที่สำคัญบางประเภทเอาไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเป็น

แม้ว่าผลประกอบการของบริษัทจะมีความผันผวนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่โครงสร้างเงินทุนยังคงแข็งแกร่ง บริษัทรักษาภาระหนี้ให้อยู่ในระดับต่ำโดยการใช้เครดิตที่ได้รับจากเจ้าหนี้การค้าและเงินรับล่วงหน้าในการก่อสร้างจากลูกค้าเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานบางส่วน ณ เดือนมิถุนายน 2552 บริษัทมีภาระหนี้จำนวน 387 ล้านบาท ลดลงอย่างมากจาก 1,757 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ผลประกอบการที่ดีขึ้นและภาระหนี้ที่ลดลงทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นโดยอยู่ที่ระดับ 8.04% อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17.04 เท่าจาก 7.48 เท่าในปี 2551 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมากจาก 45.37% ในปี 2551 มาอยู่ที่ 68.31% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ทริสเรทติ้งกล่าว



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ