เครือ SCC คาดปี 53 ยอดขายพลิกกลับเป็นบวก, สรุป M&A 1 ดีลภายในต้นปีหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 28, 2009 16:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC)คาดว่ายอดขายรวมของเครือปูนซิเมนต์ไทย(SCG)ในปี 53 จะกลับมาเติบโตเป็นบวกได้จากที่ติดลบในปีนี้ เนื่องจากในปีหน้าจะมีกำลังการผลิตจากโครงการโอเลฟินส์ 3 เพิ่มเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลัง และจะรับรู้รายได้จากโรงงานกระดาษแห่งใหม่ที่ขอนแก่นเต็มที่ทั้งปี

ประกอบกับ เศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะทำให้การใช้ปูนซิเมนต์ในประเทศที่เคยติดลบอย่างต่อเนื่องมาหลายปีน่าจะเริ่มกลับมาเป็นบวก โดยเฉพาะได้แรงสนับสนุนจากงบลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งประเมินว่าโครงการที่มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 1.4-1.5 ล้านล้านบาทนั้น มีสัดส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ปูนซิเมนต์และวัสดุก่อสร้างกว่า 50%

ส่วนในปี 52 คาดว่ายอดขายคงจะติดลบราว 20-25% โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปียอดขายติดลบไปแล้ว 26% แต่ในแง่ของกำไรยังทำได้ดี อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการในช่วงไตรมาส 4/52 อาจจะออกมาไม่ดีนักเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/52 ที่มีกำไรถึง 6.99 พันล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/51 ที่บริษัทประสบกับปัญหาขาดทุนสต็อก ก็ถือว่าดีขึ้นมากแน่นอน

นายกานต์ กล่าวว่า บริษัทยอมรับว่าธุรกิจปิโตรเคมีเริ่มเข้าสู่วัฎจักรขาลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 4/52 เนื่องจากกำลังการผลิตใหม่ที่เคยล่าช้าเมื่อตอนต้นปีทั้งจากจีนและตะวันออกกลางเริ่มกลับมาเดินเครื่องได้แล้ว ทำให้ซัพพลายในตลาดเพิ่มขึ้น ดังนั้น จะเห็นว่าส่วนต่างราคาขายและต้นทุนวัตถุดิบแนฟทาเริ่มปรับตัวลดลง โดยมาร์จิ้นแคบลงเหลือ 470-480 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากไตรมาส 3/52 อยู่ที่ 600 เหรียญสหรัฐ/ตัน

"สถานการณ์ดังกล่าวน่าจะเกิดต่อเนื่องเป็นเวลานานตามวัฎจักรปิโตรเคมี ซึ่งบริษัทยอมรับว่าอาจจะได้รับผลกระทบด้านยอดขายบ้าง เนื่องจากบริษัทพึ่งพารายได้หลักจากธุรกิจปิโตรเคมีถึง 40%"นายกานต์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเดินหน้าลงทุนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความพร้อมในการลงทุนเต็มที่ โดยปัจจุบันมีกระแสเงินสด 2.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ภายในต้นปี 53 คาดว่าจะได้ข้อสรุปผลเจรจาควบรวมกิจการ(M&A)ธุรกิจขนาด 1 พันล้านเหรียญสหรัฐได้อย่างน้อย 1 รายในประเทศแถบอาเซียน ส่วนการเจรจา M&A เพื่อขยายธุรกิจต่อเนื่องในโครงการขนาดใหญ่ 2 รายในภูมิภาคอาเซียนได้ล้มเลิกไป เนื่องจากผู้ถือหุ้นเดิมไม่ต้องการขายส่วนใหญ่ออก จึงไม่ตรงกับที่ SCG ต้องการมีอำนาจในการบริหาร

ส่วนการเข้าไปลงทุนในโครงการปูนซิเมนต์ในประเทศอินโดนีเซียนั้น ขณะนี้ชะลอออกไปก่อน เนื่องจากปริมาณการผลิตปูนซิเมนต์ในตลาดโลก รวมถึงของเครือ SCG เองก็ถือว่าล้นตลาด ส่วนโครงการปิโตรเคมีในอิหร่านเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว และสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี หลังจากล่าช้าจากแผนนานถึง 13 เดือน

ขณะที่โครงการลงทุนในมาบตาพุดของเครือ SCG มูลค่าราว 1.06 แสนล้านบาทที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของศาลปกครองนั้น เบื้องต้นจากที่บริษัทประเมินภาพโครงการใหญ่ คือ โรงโอเลฟินส์ 3 ที่มีมูลค่าลงทุนกว่า 6 หมื่นล้านบาท เพิ่มกำลังผลิตเอทิลีนอีก 9 แสนตัน /ปี จาก 8 แสนตัน/ปี และโพรพิลีนเพิ่มขึ้นด้วยนั้น อาจจะต้องเลื่อนการเดินเครื่องออกไปเป็นครึ่งหลังของปี 53 จากเดิมไตรมาส 2/53 ซึ่งจะทำให้การรับรู้รายได้ของบริทล่าช้าไปด้วย โดยบริษัทคาดว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างรายได้ให้ปีละ 5-6 หมื่นล้านบาท

"เดิมที่เราคิดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้โครงการโอเลฟินส์ใหม่ตั้งแต่ต้นไตรมาส 2 ก็คงต้องล่าช้าออกไปอย่างน้อยก็เป็นครึ่งปีหลัง จึงต้องการให้รัฐมีข้อกำหนดที่ชัดเจน และแบ่งแยกโรงงานที่มีมาตรการกับไม่มีมาตรฐาน และยืนยันว่าที่ผ่านมาเครือซิเมนต์ไทยดำเนินการตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสูงสุด 100% และยังมีการทำ HIA ล่วงหน้าแม้ว่าจะยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจน จึงยืนยันความตั้งใจ"นายกานต์ กล่าว

นายกานต์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ SCG ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่(HIA)ในรอบรัศมีโรงงาน 5 กิโลเมตรเป็นรายแรกแม้ว่าทางการจะยังไม่มีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจน โดยการศึกษาดังกล่าวยึดมาตรฐานของประเทศแคนาดาและนิวซีแลนด์ที่มีความเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ