(เพิ่มเติม) ฟิทช์คงอันดับเครดิตระยะยาวในประเทศของ AP ที่ BBB(tha) แนวโน้มมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 3, 2009 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตระยะยาวภายในประเทศของบมจ. เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (AP) ที่ BBB (tha) โดยให้แนวโน้มมีเสถียรภาพ และให้อันดับเครดิตระยะสั้นภายในประเทศที่ F3 (tha)

การคงอันดับเครดิตในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าฟิทช์ตระหนักถึงแบรนด์ที่แข็งแกร่งของ AP รวมทั้งความเชี่ยวชาญและจุดยืนที่แข็งแกร่งในตลาดในธุรกิจทาวเฮาส์พื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ และธุรกิจคอนโดมิเนียม

ทั้งนี้ แม้ยอดขายที่รอรับรู้รายได้ (backlog) ของ AP ลดลงแตะ 1.24 หมื่นล้านบาทในช่วงปลายปี 2551 จากปี 2550 ที่ 1.47 หมื่นล้านบาท แต่ฟิทช์เชื่อว่ายอดขายที่รอรับรู้รายได้ของ AP ในปี 2552 จะดีดตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากบริษัทประสบความสำเร็จในการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมหลายโครงการในช่วงครึ่งแรกของปี 2552

นอกจากนี้ AP ยังสามารถรักษาสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) เอาไว้ได้ หลังจากรัฐบาลประกาศใช้มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์

ขณะเดียวกันฟิทช์ยังพิจารณาถึงแผนการจัดซื้อที่ดินใหม่เพิ่มเติมและการก่อสร้างโครงการใหม่ที่เปิดตัวในช่วงปี 2552-2553 ซึ่งน่าจะทำให้ระดับหนี้สินของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสองปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเหล่านี้ได้ถูกลดทอนลงบางส่วนจากการที่บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการบริหารกระแสเงินสด รวมถึงระดับหนี้สินของบริษัทที่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้และสภาพคล่องที่ดี ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (Net Adjusted Debt to EBITDAR) ของ AP จะอยู่ในช่วง 3 ถึง 4 เท่าในระหว่างปี 2552 — 2554 ในขณะเดียวกันฟิทช์คาดว่า EBITDAR margin ของ AP จะลดลงในปี 2553 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการสิ้นสุดของมาตรการการลดภาษีธุรกิจเฉพาะและค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ในเดือนมีนาคม 2553

ทั้งนี้ AP มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 มาอยู่ที่ 9.8 พันล้านบาทในปี 2551 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 5.2 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ซึ่งส่วนใหญ่เนื่องมาจากการรับรู้รายได้จากโครงการคอนโดมิเนียมที่โอนในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าอัตราการเติบโตของยอดขายจะอ่อนตัวลงในช่วงปี 2553-2554 โดยส่วนหนึ่งเนื่องมาจากจำนวนโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 และครึ่งแรกของปี 2552 ซึ่งมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวในปี 2550 รวมถึงฐานรายได้ที่ใหญ่ขึ้นในปี 2552 ด้วย

AP มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสุทธิ (หลังหักการจ่ายเงินปันผล) (Free Cash Flow) อยู่ที่ 0.33 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ในขณะที่ระดับหนี้สินสุทธิลดลงมาอยู่ที่ 5.9 พันล้านบาท (6.2 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2551) นอกจากนี้ด้วยจำนวนการเปิดตัวโครงการใหม่และการซื้อที่ดินที่ลดลงในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2551 ถึงไตรมาสที่สองของปี 2552 ทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า ในช่วง 12 เดือนล่าสุด (Net Adjusted Debt to last-12-month EBITDAR) ลดลงมาอยู่ที่ 2.1 เท่า ณ สิ้นไตรมาสสองปี 2552 จาก 2.9 เท่า ณ สิ้นปี 2551

อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Cash Flow From Operation) และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสุทธิ (หลังหักการจ่ายเงินปันผล) จะติดลบในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า เนื่องจาก AP ได้มีการขยายโครงการซึ่งต้องการเงินหมุนเวียนจำนวนมากสำหรับค่าก่อสร้างโครงการและการซื้อที่ดินเพิ่ม อย่างไรก็ตามสภาพคล่องทางการเงินของ APD ยังคงอยู่ในระดับที่เพียงพอ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเงินสดในมือที่ระดับ 789 ล้านบาทและวงเงินสินเชื่อที่สามารถเบิกจ่ายได้จากธนาคารประมาณ 8.6 พันล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสสองปี 2552


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ