ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (3 พ.ย.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ ขณะที่ดัชนี Nasdaq และ S&P 500 ดีดตัวขึ้นหลังจากมีรายงานว่าบริษัท เบิร์คเชียร์ แฮทธาเวย์ของ นายวอร์เรน บัฟเฟตต์ ตกลงเข้าซื้อบริษัทเบอร์ลิงตัน นอร์ทเธิร์น ซานตาเฟ คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัททางรถไฟขนาดใหญ่ นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีการประกาศในคืนพุธที่ 4 พ.ย.ตามเวลาประเทศไทย
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ขยับลง 17.53 จุด หรือ 0.18% ปิดที่ 9,771.91 จุด แต่ดัชนี S&P 500 ดีดขึ้น 2.53 จุด หรือ 0.24% ปิดที่ 1,045.41 จุด และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 8.12 จุด หรือ 0.40% ปิดที่ 2,057.32 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.38 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบในอัตราส่วน 18 ต่อ 11 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 2.18 พันล้านหุ้น
เควิน การ์ดิเยร์ หัวหน้านักวิเคราะห์จากบริษัท Barclays Wealth กล่าวกับเอพีว่า ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวขึ้นลงคละเคล้ากันไปเกือบตลอดทั้งวัน เนื่องจากมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบผสมผสานกันในตลาด โดยความวิตกกังวลส่วนใหญ่มาจากแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตและอัตราว่างงานที่อาจจะพุ่งขึ้นอีก หลังจากบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน วางแผนปลดพนักงานทั่วโลก 7% และเตรียมปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้สามารถลดต้นทุนได้ 900 ล้านดอลลาร์ในปีหน้า
หุ้นกลุ่มการเงินร่วงลงหลังจากมีรายงานว่าลอยด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป ซึ่งเป็นธนาคารปล่อยกู้เพื่อการซื้อบ้านรายใหญ่สุดของอังกฤษ วางแผนระดมทุนมูลค่า 2.1 หมื่นล้านปอนด์ หรือ 3.4 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่รอยัลแบงค์ ออฟ สก็อตแลนด์ (อาร์บีเอส) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของอังกฤษ กลายเป็นสถาบันการเงินที่ต้องขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลมากที่สุดในโลก แซงหน้าซิตี้กรุ๊ป หลังจากรัฐบาลอังกฤษวางแผนอัดฉีดเงินให้อาร์บีเอสอีก 2.55 หมื่นล้านปอนด์ หรือ 4.2 หมื่นล้านดอลลร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับแรงหนุนจากข่าวที่ว่า บริษัท เบิร์คเชียร์ แฮทธาเวย์ของ นายวอร์เรน บัฟเฟตต์ ตกลงเข้าซื้อบริษัทเบอร์ลิงตัน นอร์ทเธิร์น ซานตาเฟ คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัททางรถไฟขนาดใหญ่ ซึ่งข่าวดังกล่าวช่วยหนุนหุ้นกลุ่มคมนาคมที่คำนวนในดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้น 5.3% โดยหุ้นเบอร์ลิงตันพุ่งขึ้น 27.5% หุ้นซีเอสเอ็กซ์ ดีดขึ้น 7.3% และหุ้นนอร์ฟอล์ค เซาเธิร์น ปิดบวก 5.4%
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยบวกจากรายงานยอดสั่งซื้อภาคโรงงานในสหรัฐที่พุ่งขึ้น 0.9% ในเดือนก.ย. หลังจากลดลง 0.8% ในเดือนส.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่ายอดสั่งซื้อภาคโรงงานอาจเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนก.ย.
นักลงทุนจับตาดูรายงานเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยส่วนวันพุธ ADP Employer Services จะเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานทั่วประเทศเดือนต.ค. ขณะที่ ISM จะเปิดเผยดัชนีภาคบริการเดือนต.ค. และคณะกรรมการเฟดจะประกาศมติการประชุมกำหนดอัตราดอกเบี้ย
วันพฤหัสบดี กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และเฟดจะเปิดเผยข้อมูลประสิทธิภาพการผลิตและต้นทุนแรงงานต่อหน่วยขั้นต้นประจำไตรมาส 3 และวันศุกร์ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนต.ค. และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลสต็อกสินค้าภาคค้าส่งเดือนก.ย.
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานประจำเดือนต.ค.ของสหรัฐ จะร่วงลงอีก 175,000 ตำแหน่ง ซึ่งจะเป็นสถิติที่ร่วงลงรุนแรงสุดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนต.ค.จะพุ่งขึ้นแตะ 9.9% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 26 ปี