บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศลดอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันของ บริษัท อีซี่ บาย จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “AA-" จาก “AA" พร้อมทั้งประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “BBB" โดยแนวโน้มของอันดับเครดิตหุ้นกู้และองค์กรยังเป็น “Negative" หรือ “ลบ" อันดับเครดิตหุ้นกู้ที่ปรับลดลงสะท้อนถึงฐานะการเงินที่อ่อนแอลงของ ACOM Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทแม่และผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ของบริษัท ทั้งนี้ คาดว่าฐานะการเงินของ ACOM อาจได้รับแรงกดดันจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นทั้งสำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และสำหรับใช้คืนเงินแก่ลูกค้าที่จ่ายดอกเบี้ยไว้เกินก่อนที่กฎระเบียบของทางการจะมีผลบังคับใช้ รวมถึงแรงกดดันจาก “Money Lending Business Law" ที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2553 และภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจน้อยลง
อันดับเครดิตองค์กรสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจสินเชื่อเพื่อการบริโภคที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ตลอดจนการสนับสนุนที่เข้มแข็งจากบริษัทแม่และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ทว่าอันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากฐานะเงินทุนของบริษัทที่อยู่ในระดับต่ำและความเสี่ยงจากกลุ่มลูกค้าที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งภาวะการดำเนินธุรกิจที่เอื้อประโยชน์น้อยลงซึ่งอาจจำกัดการเติบโตทางธุรกิจและการทำกำไร รวมถึงอาจทำให้คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทถดถอยลง ในขณะที่อันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันของบริษัทยังสะท้อนการค้ำประกันเต็มจำนวนจาก ACOM ซึ่งได้รับอันดับเครดิตในระดับ “A3" ด้วยแนวโน้ม “Negative" หรือ “ลบ" จาก Moody’s Investors Service (Moody’s) และระดับ “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Negative" หรือ “ลบ" จาก Standard & Poor’s (S&P)
โดยอันดับเครดิตของ ACOM ได้รับแรงหนุนจากฐานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อเพื่อการบริโภค ตลอดจนการมีผู้บริหารที่มีประสบการณ์ การมีธุรกิจที่หลากหลาย และการที่ ACOM เป็นบริษัทในเครือที่สำคัญของ Mitsubishi-UFJ Financial Group Inc. (MUFG) โดยปัจจุบัน MUFG ถือหุ้น ACOM ในสัดส่วน 40.04% ซึ่งทำให้ ACOM เป็นบริษัทย่อยที่อยู่ภายใต้การกำกับแบบรวมกลุ่มของ MUFG มาตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2551 อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวมีข้อจำกัดจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงและความเสี่ยงด้านกฎระเบียบของทางการซึ่งมีผลกระทบในเชิงลบต่อผลประกอบการของธุรกิจให้สินเชื่อเพื่อการบริโภคที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศญี่ปุ่น
ทริสเรทติ้งกล่าวถึงแนวโน้ม “Negative" หรือ “ลบ" สำหรับอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอีซี่ บายว่าสะท้อนความคาดหมายว่าผลประกอบการของบริษัทน่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยน้อยลง และบริษัทยังคงมีฐานเงินทุนที่ต่ำและไม่เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น เพื่อที่จะคงอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับเดิม ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทเพิ่มทุนในจำนวนที่มากพอที่จะรักษาฐานเงินทุนไม่ให้ต่ำลงไปกว่าระดับปัจจุบันจากผลประกอบการที่อาจถดถอยลงในอนาคต ส่วนแนวโน้ม “Negative" หรือ “ลบ"
สำหรับอันดับเครดิตหุ้นกู้ของบริษัทอีซี่ บายสะท้อนถึงความไม่แน่นอนที่ยังคงมีอยู่ในผลประกอบการสำหรับปีงบประมาณ 2553 ของบริษัทแม่ผู้ค้ำประกันหุ้นกู้คือ ACOM เนื่องจากบริษัทแม่อาจได้รับแรงกดดันจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นทั้งสำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการคืนเงินแก่ลูกค้าที่จ่ายดอกเบี้ยเกินไปก่อนที่กฎระเบียบของทางการจะมีผลบังคับใช้ภายใต้สัญญาการค้ำประกันที่กำหนดภายใต้กฎหมายของประเทศญี่ปุ่น บริษัทแม่ผู้ค้ำประกันจะให้การค้ำประกันเต็มจำนวนแก่หุ้นกู้ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตดังกล่าวอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้หากบริษัทอีซี่ บายไม่สามารถชำระเงินได้ตามกำหนด ในกรณีที่บริษัทถูกฟ้องล้มละลายและมีการจ่ายคืนหนี้แก่ผู้ถือหุ้นกู้แต่หนี้นั้นถูกเรียกคืน ภาระการชำระหนี้ดังกล่าวจะตกเป็นของบริษัทแม่ผู้ค้ำประกันและจะมีผลในการใช้หนี้ทันที
นอกจากนั้น หาก ACOM มีการควบรวมกิจการ บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นหลังการควบรวมกิจการจะต้องรับภาระผูกพันในการค้ำประกันหุ้นกู้ดังกล่าวด้วย หาก ACOM ไม่สามารถจ่ายชำระตามกำหนดหลังจากได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้สามารถดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ค้ำประกัน ณ ศาลพาณิชย์ในประเทศญี่ปุ่นเพื่อฟ้องร้องเรียกเงินที่ผิดนัดชำระคืนได้ ภาระผูกพันของผู้ค้ำประกันภายใต้สัญญาการค้ำประกันนี้จะมีลำดับของสิทธิเรียกร้องเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิอื่นๆ ของผู้ค้ำประกัน
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ณ เดือนมิถุนายน 2552 สินเชื่อรวมของบริษัทอีซี่ บายคิดเป็นสัดส่วน 4.8% ของสินเชื่อรวมของ ACOM โดยเพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในปีงบประมาณ 2549 (สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2549) หนี้สินของบริษัทที่ได้รับการค้ำประกันจาก ACOM มีจำนวนรวม 54,675 ล้านเยน ณ เดือนมีนาคม 2552 หรือคิดเป็น 12% ของส่วนของผู้ถือหุ้นรวมของ ACOM โดยเพิ่มขึ้นจาก 1% ในปีงบประมาณ 2547 บริษัทอีซี่ บายเป็นบริษัทย่อยแห่งแรกในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของ ACOM และมีความสำคัญเชิงกลยุทธ์สำหรับ ACOM ในการเป็นผู้ประกอบการให้สินเชื่อเพื่อการบริโภครายสำคัญในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ACOM ยังมีพันธะสัญญาที่เหนียวแน่นกับบริษัทในการให้การสนับสนุนทั้งในด้านการเงินและธุรกิจ อันได้แก่ การถ่ายทอดเทคโนโลยี ความรู้ทางธุรกิจ และพัฒนานวัตกรรมทางการเงินสำหรับตลาดในประเทศไทยด้วย
ทริสเรทติ้งกล่าวว่าการมีประสบการณ์กว่า 10 ปีส่งผลให้บริษัทอีซี่ บายมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี ในขณะที่การสนับสนุนทางการเงินและธุรกิจอย่างเต็มที่จาก ACOM ก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อฐานะทางการตลาดและการเติบโตของบริษัทในอนาคต แม้ว่าลักษณะของธุรกิจจะมีการกระจายความเสี่ยงอยู่แล้วจากการปล่อยสินเชื่อต่อรายในจำนวนไม่มากให้แก่ลูกค้ารายย่อยจำนวนมาก แต่บริษัทก็ยังคงมีความเสี่ยงทางด้านเครดิตเนื่องจากลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเสี่ยงด้านกฎระเบียบเนื่องจากภาครัฐมักให้ความสำคัญในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคมากกว่า คุณภาพสินทรัพย์นับเป็นปัจจัยสำคัญต่ออันดับเครดิตของบริษัทอีซี่ บายเนื่องจากบริษัทได้รับแรงกดดันจากฐานเงินทุนที่มีค่อนข้างต่ำและปัจจัยทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป บริษัทได้นำความรู้ในการดำเนินธุรกิจและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงต่างๆ จาก ACOM มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพตลาดของไทย ไม่ว่าจะเป็นแบบจำลองการให้คะแนนความน่าเชื่อถือของลูกค้า (Credit Scoring) ที่ทันสมัย การบริหารร้านค้าเครือข่ายและฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงมาตรฐานและขั้นตอนการติดตามจัดเก็บหนี้เพื่อใช้ควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ นอกจากนี้ บริษัทมีอัตราเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยในระดับสูงสุดที่ 6.12% ณ สิ้นปี 2550 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยใหม่ด้วย ส่งผลทำให้บริษัทประสบกับภาวะขาดทุนจำนวน 113 ล้านบาทในปี 2549 และ 95 ล้านบาทในปี 2550
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของบริษัทเริ่มกลับมามีกำไรอีก โดยในปี 2551 บริษัทมีกำไรสุทธิ 310 ล้านบาท และ 96 ล้านบาทสำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2552 ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากการขยายจำนวนสินเชื่อส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง โดยมีการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพแม้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญยังคงสูงจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยก็ตาม บริษัทยังคงมีฐานเงินทุนที่ค่อนข้างต่ำ และมีอัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงเป็น 5.70% ในปี 2550 จาก 7.16% ในปี 2549 ก่อนจะปรับตัวเป็น 6.50% ในปี 2551 และ 6.75% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552