ซีอีโอ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น (DTAC)วางเป้าหมายพุ่งสู่ตำแหน่งผู้นำ Mobile Broadbrand Operator เตรียมความพร้อมรุกตลาดบริการ 3G รอแค่สัญญาณไฟเขียวจากภาครัฐ แม้ว่าขณะนี้การประมูลใบอนุญาตยังมีอุปสรรค แต่เชื่อว่าคงเลื่อนไปอีกไม่นาน หวังเทคโนโลยีใหม่ช่วยดันตลาดโทรมือถือเติบโตได้ในปี 53
"ถ้าไม่มี 3G เราก็ focus ธุรกิจบน 2G เน้นเพิ่มการใช้งาน Data มากขึ้น...เมื่อมี 3G เราตั้งเป้าเป็นผู้นำบรอดเบรนด์ระบบ 3G หรือ Mobile Broadband Operator เพราะครั้งนี้ทุกคนแข่งขันบนพื้นฐานเดียวกัน ต่างจาก สัญญาณสัมปทาน เราค่อนข้างมั่นใจว่าองค์กรเราจะแข็งแรง" นายทอร่ จอห์นเซ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นายทอเร่ กล่าวว่า ในปี 53 ภาพรวมตลาดโทรศัพท์มือถืออาจจะไม่โตจากปีนี้ หรือมีลูกค้าเพิ่มประมาณ 2-3 ล้านรายเท่ากับปีนี้ หากไม่มีระบบ 3G เกิดขึ้น เพราะมองว่าเป็นเรื่องยากธุรกิจจะเติบโตในระดับสูงเหมือนปีที่ผ่านมา เนือ่งจากอัตราการใช้มือถือเกือบเต็ม 100% นอกจาก 3G มากระตุ้นตลาด ซึ่งหากธุรกิจ 3G เกิดจริงจะดีต่อประเทศไทย การใช้จ่าย การจ้างงานจะเพิ่มขึ้น และการเติบโตของบรอดแบนด์จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ขณะนี้เมื่อยังไม่มีการประมูล บริษัทก็จะมุ่งเน้นที่การบริการ EDGE และ GPRS บนคลื่น 2G รวมทั้ง ทำแคมเปญ DTAC Internet และ แอร์การ์ด ด้วย และหากมีการทำธุรกิจ 3G คาดว่ารายได้จาก Non-Voice จะเป็นเพิ่มสัดส่วน 10-15% ในช่วง 5 ปีนี้
อย่างไรก็ตาม การประมูลใบอนุญาต 3G เชื่อว่าน่าจะเลื่อนออกไปไม่มาก หรืออย่างน้อย 2-3 เดือน อย่างไรเสียในปี 53 ก็ยังหวังและเชื่อว่าจะมีการประมูลใบอนุญาต 3G แน่นอน ดังนั้น บริษัทจึงต้องการรอดูรายละเอียดสุดท้ายของสารสนเทศ (IM) ที่เชื่อว่าจะมีการปรับปรุงหลังจากรับฟังความคิดเห็นรอบ 2 ในวันที่ 12 พ.ย.นี้ จากนั้นจึงจะประเมินตัวเลขการลงทุนที่ชัดเจนเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท
นายทอเร่ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้เตรียมเงินทุนพร้อมไว้แล้ว โดยจะมาจากกระแสเงินสดและเงินกู้จากสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ ก่อนที่จะเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท ทางฝ่ายบริหารประเมินเม็ดเงินลงทุนเท่าไรจึงจะเหมาะสม เพื่อขออนุมัติวงเงินจากคณะกรรมการและผู้ถือหุ้น ซึ่งเบื้องต้นในประเมินเฟสแรก เป็นเงินลงุทนหลักหมื่นล้านบาท เนื่องจากค่าใบอนุญาต เบื้องต้นอยู่ที่ 4-5 พันล้านบาท และหาก IM ยังกำหนดว่าต้อง Roll Out โครงข่ายให้ได้ 50% ภายใน 2 ปี ซึ่งจะสร้างภาระการลงทุนจำนวนมากกับโอเปอเรเตอร์ แต่บริษัทมีความพร้อมทางการเงินที่เตรียมไว้สำหรับรองรับการลงทุน 2-3 ปีแรกนับจากวันที่ได้ใบอนุญาต 3G
นอกจากนี้ บริษัทได้เตรียมจัดตั้งบริษัทใหม่ที่เข้าประมูล หรือจะใช้บริษัทย่อยที่มีอยู่เข้าร่วมประมูล แทนการใช้ DTAC ซึ่งเห็นว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมและ โอเปอเรเตอร์รายอื่นก็เลือกใช้ทางนี้ ซึ่งหากจะจัดตั้งบริษัทใหม่ ก็เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน
ส่วนกรณีที่มีผู้เสนอไม่ให้โอเปอเรเตอร์รายเดิมเข้าร่วมประมูล 3G มองว่าเป็นเรื่องที่แปลกมาก เนื่องจากที่ผ่านมาโอเรเตอร์ทั้ง 3 ราย คือ เอไอเอส ดีแทค และ ทรูมูฟ ต่างเป็นผู้ลงทุนและพัฒนาให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมทุกวันนี้ได้เติบโตมาถึงจุดนี้ ขณะที่ภาครัฐไม่ต้องลงทุนใดๆ และบมจ.ทีโอที กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม ไม่ได้มีบทบาทพัฒนาอุตสหกรรมนี้
ถ้าหากเป็นจริง ก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนของนักลงทุน และ กระทบต่อภาวะตลาดหุ้น เพราะโอเปอเรเตอร์เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีผู้ถือหุ้นคนไทยจำนวนมากและรัฐบาลก็ต้องตอบคำถามกับผู้ถือหุ้นที่ได้รับผลกระทบอย่างไร
"ผมไม่เชื่อว่าโอเปอเรเตอร์ ทั้ง 3 รายจะไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ และที่ผ่านมาไม่เคยเห็นประเทศไหนไม่ให้โอเปอเรเตอร์รายเดิมเข้าร่วมประมูล และป้ญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็ยังไม่เคยพบเห็น"นายทอเร่ กล่าว
*Q4/52 ธุรกิจผงกหัว เชื่อทำการตลาดถูกทาง
ส่วนปี 52 เชื่อแนวโน้มธุรกิจในไตรมาส 4/52 ดีกว่า 3 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยรายได้อาจใกล้เคียงกับไตรมาส 3/52 ที่มีรายได้ 1.6 หมื่นล้านบาท เติบโตประมาณ 1.1% จากไตรมาส 2/52 ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้จากโรมมิ่งมากขึ้น หลังจากธุรกิจท่องเที่ยวใทยเริ่มฟื้นตัว คาดสิ้นปีผู้ใช้บริการของ DTAC จะเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยจากสิ้นไตรมาส 3/52 ที่มี 19.3 ล้านราย
"ในไตรมาส 4/52 จะรักษาอัตราเติบโต 1-2% (QoQ)ให้ได้ใกล้เตียงไตรมาส 3/52 และคิดว่าไตรมาสนี้ แนวโน้มธุรกิจไตรมาส 4 หวังว่าน่าจะดีขึ้น จากภาวะการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น" นายทอเร่ กล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC เชื่อว่าการทำการตลาดของบริษัทมาถูกทาง โดยที่ผ่านมา การทำการตลาดจะเจาะลึกโดยแบ่งกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มย่อยๆ และ เจาะการตลาด แบบ below the line มากกว่าผ่าน mass media ซึ่งสวนทางกับ เอไอเอส และ ทรูมูฟ ที่ยังมุ่งเน้นการทำการตลาดแบบ mass media ซึ่งพิสูจน์มาแล้วว่ารายได้ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ของ DTAC เพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับโอเปอเรเตอร์รายอื่น
"ถือว่าบริษัทได้การตลาดมาถูกทางแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ทุกรายในระบบ บริษัทดีกว่า 0.2% และขณะนี้ โอเปอเรเตอร์บางรายมุ่งเน้นโฆษณาและทำโปรโมชั่นกระตุ้นซื้อซิมมากขึ้น ซึ่งคาดว่าเป็นการเตรียมการ เพื่อให้มีปริมาณฐานลูกค้ามากขึ้นก่อนที่จะเข้าสู่ระบบ 3G" นายทอเร่ กล่ว
แต่ DTAC ไม่มุ่งเน้นการขาย SIM เพราะมองว่าเป็นกลุ่มไม่ยั่งยืนและอาจประสบปัญหากับยอด Churn ได้ แต่บริษัทจะเน้นลูกค้าที่มีคุณภาพ และจะพยายามรักษาฐานลูกค้าเดิม โดยการพัฒนาระบบโครงข่าย และ การให้บริการที่ดีเพื่อมัดใจลูกค้า หลังจากที่บริษัทมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น เป็น 1.3 หมื่นล้านบาท ก็ได้มีการจัดสรรงบลงทุนพัฒนาโครงข่าย 2G เพิ่มในไตรมาส 4/52 ต่อไป