นายวุฒิชัย ลีนะบรรจง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และรองประธานกรรมการ บมจ. แคปปิทอล เอ็นจิเนียริ่ง เน็ตเวิร์ค (CEN) คาดว่ารายได้ของบริษัทในปี 53 จะมีอัตราการขยายตัวไม่ต่ำกว่า 15% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะการกระตุ้นจากภาครัฐ ทำให้มีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก
อีกทั้ง CEN มีแผนที่จะรุกตลาดไปยังต่างประเทศ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการในประเทศลิเบีย คาดว่าจะสามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายได้ในปีหน้า พร้อมกันนี้ยังพยายามมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ทั้งในและนอกประเทศเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท ซึ่งจะช่วยผลักดันรายได้ของ CEN เติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
นอกจากนั้น ยังเชื่อว่าในปีนี้รายได้น่าจะทำได้ตามเป้าหมาย และสร้างผลกำไรได้ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจที่ยังมีการขยายตัว ผนวกกับไตรมาส 4/52 คาดว่าจะทำได้ดีไม่แพ้ไตรมาส 3/52
CEN รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/52 พลิกมีกำไรสุทธิ 36.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 208.66% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/52 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 33.36 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทย่อยทั้ง 3 แห่งคือ บริษัท ระยองไวร์ อินดัสตรีส์จำกัด, บริษัท เอื้อวิทยา จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอ็นเนซอล จำกัด มีผลประกอบการดีขึ้นทั้งหมด ตามผลบวกจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ฟื้นตัวภายหลังจากรัฐบาลผลักดันและกระตุ้นให้เกิดโครงการใหม่ๆ อาทิ โครงการไทยเข้มแข็ง เป็นต้น
นายวุฒิชัย กล่าวว่า สำหรับ บมจ.เอื้อวิทยา ซึ่งผลิตและจำหน่ายโครงเหล็กชุบสังกะสีสำหรับเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เสาโทรคมนาคม และโครงเหล็กสถานีไฟฟ้าย่อย ยังมีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามโครงการขยายระบบสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งยังคงมีความต้องการสูงจากความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
และ แนวโน้มในปี 53 ยังมีการเปิดประมูลโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท และบริษัทคาดว่าจะสามารถชนะการประมูลและคว้างานมาได้กว่า 40-50% เนื่องจากเอื้อวิทยาเป็นบริษัทที่สามารถผลิตสายไฟฟ้าขนาด 500 kV. ได้
ในส่วนของ บริษัท เอ็นเนซอล จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านบริหารการจัดการพลังงาน และบริหารโรงผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่บริษัท เดอะ สยามเซรามิค กรุ๊ป อินดัสทรีส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือปูนซีเมนต์ไทย ปัจจุบันมีการปรับปรุงประสิทธิภาพและสามารถดำเนินงานได้ตามแผนที่วางไว้ได้ทั้งการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าและพลังงานความร้อน
บริษัทยังสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย โดยเฉพาะการจัดการเกี่ยวกับวัตถุดิบ ซึ่งได้มีคณะทำงานคอยติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาวัตถุดิบอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของราคาเหล็กที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการในปีที่แล้ว ซึ่งในไตรมาส 1/52 ถึงไตรมาส 2/52 บริษัทได้มีการจัดการปรับต้นทุนเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางราคาเหล็กเรียบร้อยแล้ว เพื่อรับมือกับสถานการณ์และแนวโน้มของราคาและปริมาณความต้องการ
*ตั้งงบลงทุนปี 53 ประมาณ 200-300 ลบ.
นายวุฒิชัย กล่าวว่า บริษัทตั้งงบลงทุนสำหรับปี 53 จำนวนประมาณ 200-300 ล้านบาท จะเป็นการลงทุนในบริษัทย่อย ไม่ว่าจะเป็นการออกสินค้าใหม่ การขยายกำลังผลิต รวมถึงการเข้าเทคโอเวอร์ รวมถึงการร่วมลงทุนในบริษัทวัสดุก่อสร้าง ขณะนี้เจรจาอยู่ 3-4 ราย ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 53 ซึ่งการเข้าเทคโอเวอร์เป็นแผนของบริษัทตั้งแต่ปี 52 แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยจึงต้องเลื่อนออกไป
นายวุฒิชัย กล่าวต่อว่า การเติบโตของกำไรในปี 53 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นหรืออยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท จากปีนี้ที่คงจะยังเห็นการขาดทุนอยู่ แต่คงจะขาดทุนลดลง โดยงวด 9 เดือน ขาดทุน 26 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมก็ปรับตัวดีขึ้นจากปี 52 ที่รายได้อยู่ที่ 1.6 พันล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 2.2 พันล้านบาท เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและราคาต่อยูนิตแต่หลังจากนี้ไปภาพของบริษัทจะปรับเปลี่ยนโดยได้มีการปรับกลยุทธ์และการบริหารทั้งของบริษัทและบริษัอย่อย คือ ระยองไวร์ เอื้อวิทยา เอ็นเนซอล
ส่วนรายได้ในปีหน้าจะมาจากระยองไวร์ 800 ล้านบาท เอื้อวิทยา 800 ล้านบาท และเอ็นเนซอล 200 ล้านบาท และที่เหลืออื่นๆ
โดยในส่วนของเอ็นเนซอล ขณะนี้บริษัทมีแผนจะเพิ่มลูกค้าให้มากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาลูกค้าใหม่ 4-5 ราย โดยปัจจุบันเอ็นเนซอลกลับมาเดินเครื่องผลิตแล้ว กำลังผลิต 6 เมกะวัตต์ต่อวัน ซึ่งเชื่อว่าจะมีการเติบโตและการสร้างผลกำไรที่ดีในปี 53 เพราะความต้องการในพลังงานทดแทนยังมีสูง
ขณะที่บริษัท เอื้อวิทยา ก็มีงานเข้ามามากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยได้มีการเข้าไปร่วมกับพันธมิตรในการประมูลงานที่กัมพูชา 2-3 โครงการ มูลค่า 2 พันล้านบาท เอื้อวิทยาจะลงทุน 600 ล้านบาท คาดว่าจะสรุปผลภายใน 2 เดือนนี้
นอกจากนี้ ยังสนใจการเข้าไปรับงานที่ประเทศพม่า ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการก่อสร้างเพิ่มขึ้นในปีหน้า โดยวันที่ 5 ธ.ค.จะเดินทางไปโรดโชว์
*ทบทวนแผนนำเอื้อวิทยา-ระยองไวร์เข้าตลาดหุ้น คาดเห็น H2/53
นายวุฒิชัย กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทเอื้อวิทยา บริษัทได้กลับมาทบทวนแผนนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรว่าจะเข้าตลาด SET หรือ mai
ปัจจุบัน เอื้อวิทยามีทุนจดทะเบียน 450 ล้านบาท ชำระแล้ว 250 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่จะนำระยองไวร์ เข้าจดทะเบียนในด้วย แต่จะเป็นบริษัทไหนเข้าก่อนยังตอบไม่ได้ แต่คาดว่าทั้งสองบริษัทจะเข้าทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 53
นายวุฒิชัย กล่าวว่า สำหรับพอร์ตลงทุน บริษัทมีแผนจะเพิ่มการลงทุนในหุ้นในกลุ่มพลังงานและแบงก์ รวมถึงการลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาวมากขึ้นจากปัจจุบันที่ลงทุนในระยะสั้นในบริษัทก่อสร้างอย่างเดียว เนื่องจากต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปแบบเงินปันผลที่มากขึ้น โดยที่ผ่านมาบริษัทมีกำไรจากการลงทุนในหุ้น 10-20 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีพอร์ตลงทุนในหุ้น 105 ล้านบาท