(เพิ่มเติม) BANPU คาดใช้เงินลงทุน 466 ล้านเหรียญฯ ตามแผน 6 ปี เพิ่มน้ำหนักถ่านหิน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 11, 2009 17:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บ้านปู (BANPU) คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 466 ล้านเหรียญสหรัฐภายใต้แผนการลงทุน 6 ปีตั้งแต่ปี 53-58 (ไม่รวมโครงการใหม่) จากที่ก่อนหน้านี้บริษัทได้มีการทบทวนแผนลงทุนระยะยาว โดยเงินลงทุนดังกล่าวแบ่งเป็นการลงทุนในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง 190 ล้านเหรียญสหรัฐ การลงทุนในจีน 22 ล้านเหรียญสหรัฐ และที่เหลือเป็นการลงทุนในไทยและลาว 255 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU กล่าวว่า งบลงทุนตามแผน 6 ปีดังกล่าว ยังไม่รวมการลงทุนโครงการใหม่ๆ ที่อาจมีขึ้นในอนาคต เพราะยังประเมินได้ยาก แต่ก็เชื่อว่าบริษัทมีสภาพคล่องพอที่จะยืดหยุ่นในเรื่องการลงทุนได้

นายชนินท์ กล่าวว่า ในปี 53 บริษัทมีแผนจะทยอยลดสัดส่วนธุรกิจไฟฟ้าลงเหลือ 10-15% จากปัจจุบันอยู่ที่ 30% โดยจะเพิ่มน้ำหนักเน้นไปที่ธุรกิจถ่านหินเป็นหลัก เนื่องจากในระหว่างการทบทวนแผนงานในระยะยาวมองว่าอุตสาหกรรมถ่านหินยังมีความต้องการในระยะ 10-20 ปีค่อนข้างดี และการพัฒนา คน ระบบ และ เทคโนโลยีไปพร้อมกันน่าจะทำได้ดีกว่า

จากนั้นเมื่อถึง 58 ธุรกิจไฟฟ้าจะกลายเป็นเพียงธุรกิจเสริมของ BANPU โดยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงการจัดโครงสร้างอค์กร ซึ่งเป็นที่มาของการมองหาโอกาสการลงทุนในเหมืองถ่านหินแห่งใหม่ โดยเฉพาะในออสเตรเลียและอินโดนีเซีย ที่บริษัทกำลังดำเนินการศึกษาอยู่อย่างต่อเนื่อง

"มีผลต่อเราที่ต้องไขว่คว้าหาเหมืองใหม่ๆ มากขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปี 52 เข้าประมูลเหมืองถ่านหิน 2-3 แห่ง และเข้าประมูลโรงไฟฟ้า 3-4 แห่ง... แต่ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบขายอะไรออกไป เพราะฉะนั้น 6 ปี จะเป็นการโตโดยไม่ได้ขายอะไรออก หลังจากหงสาฯเสร็จก็จะมองหาธุรกิจไฟฟ้าน้อยลงแล้ว เพราะจะไป focus ถ่านหินมากขึ้น" นายชนินท์ กล่าว

ทั้งนี้ BANPU ตั้งเป้าปริมาณขายถ่านหินจะเพิ่มขึ้นเป็น 33.5 ล้านตันภายใน 5-6 ปีข้างหน้า จากขณะนี้อยู่ที่ประมาณกว่า 23 ล้านตัน

สำหรับการเข้าร่วมประมูลเหมืองถ่านหิน PT Berau Coal ในอินโดนีเซียว่า นายชนินท์ กล่าวว่า ขณะนี้กระบวนการยังไม่จบ ซึ่งบริษัทก็ได้ยื่นประมูลไปแล้ว และบริษัทยังเดินหน้าหาเหมืองที่ออสเตรเลียควบคู่กันไปด้วย

นายชนินท์ กล่าวอีกว่า ในอนาคตหากมีการลงทุนเพิ่มเติม บริษัทก็จะพิจารณาแนวทางการออกหุ้นกู้ แต่ขณะนี้วงเงินที่ขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นไว้หมดลงไปแล้ว หากจะมีการออกหุ้นกู้เพิ่มเติมอีกก็คงต้องขอมติใหม่ ซึ่งบริษัทคงจะเน้นการกู้ในสกุลดอลลาร์มากขึ้น เนื่องจากมีรายได้และต้นทุนเป็นสกุลดอลลาร์

นอกจากนั้น ในส่วนของภาระหนี้มีที่อยู่ราวหมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งบางส่วน swap ไปแล้ว และส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็มีแนวคิดที่จะ swap เป็นดอลลาร์เพิ่มเติมอีก

*คาดปี 53 รายได้โตไม่ถึง 12% เหตุราคาถ่านหินเฉลี่ยลดลง

นายชนินท์ เปิดเผยอีกว่า บริษัทคาดการณ์ผลประกอบการในปี 53 ว่ารายได้คงเติบโตไม่ถึง 12% เนื่องจากราคาถ่านหินเฉลี่ยปี 53 จะลดลงจากปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 72 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิค ซึ่งน่าจะเป็นตัวแปรที่ทำให้ราคาถ่านหินลดลง

ส่วนในปี 52 คาดว่ากำไรจะเติบโตดีขึ้นจากปี 51 และถือว่าดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะสามารถแก้ไขปัญหาเดิม การจัดการในเหมืองได้ เช่นเรื่องการขนส่ง การบริหารผู้รับเหมา ซึ่งในส่วนรายได้รวมปีนี้จะเติบโตราว 14% มาที่ 5.7 หมื่นล้านบาท โดยงวด 9 เดือนทำรายได้แล้วประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

"ปีนี้การบริหารต้นทุนได้ดีมาก ทำให้ต้นทุนลดต่ำลง ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น แม้ปริมาณขายลด" นายชนินท์ กล่าว

สำหรับไตรมาส 4/52 คาดว่ารายได้ในไตรมาสนี้จะอยู่ที่ประมาณ 1.6 กว่าหมื่นล้านบาท โดยกำไรจะต่ำกว่าไตรมาส 3/52 เพราะกำไรเหมืองในอินโดนีเซียไม่สูงกว่าคาด แต่กำไรจากเหมืองในจีนยังใกล้เคียงกับไตรมาส 3/52 ขณะที่โรงไฟฟ้า BLCP เป็นฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงประจำปี เพื่อเดินเครื่องเต็มที่ในปีหน้า นอกจากนี้ในไตรมาสนี้ยังมีค่าใช้จ่ายบางตัวเข้ามา

อย่างไรก็ตาม กำไรในไตรมาส 4/52 คงจะไม่ได้ลดลงมาก เพราะปริมาณขายถ่านหินเพิ่ม แต่ปริมาณที่เพิ่มขึ้นถูกเฉลี่ยไปกับราคาถ่านหินที่คาดว่าจะลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ