นักวิชาการเสนอทบทวนราคาเริ่มต้นประมูลใบอนุญาตให้บริการ 3G เนื่องจากมองว่ากำหนดออกมาต่ำเกินไป โดยอาจปรับราคาเพิ่มขึ้น หรือหาแนวทางใช้วิธีเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตเพื่อเพิ่มรายได้เข้ารัฐให้เหมาะสม ก่อนจะกลับมาทำประชาพิจารณ์ใหม่ในรอบที่ 3 ขณะที่ กทช.หวังว่าการทำประชาพิจารณ์น่าจะจบได้ในครั้งนี้ เพื่อให้ประกาศ IM ลงราชกิจจานุเบกษาได้ทันกรอบเดือน ธ.ค.52
นายประชา คุณธรรมดี อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะร่างสรุปข้อสนเทศการจัดสรรคลื่นความถี่ IMT หรือ 3G & beyond ว่า การกำหนดราคาเริ่มต้นประมูลใบอนุญาต 3G ที่ใบละ 4.6 พันล้านบาทสำหรับขนาด 10 เมกะเฮิร์ตซ จำนวน 3 ใบ และ 5.2 พันล้านบาทสำหรับใบอนุญาตขนาด 15 เมกะเฮิร์ตซ จำนวน 1 ใบ เป็นราคาที่ต่ำเกินไป
ราคาที่กำหนดออกมาไม่ได้สะท้อนมูลค่าของการโอนย้ายลูกค้าจาก 2G ไปใช้บริการ 3G จึงเสนอให้คณะกรรมการกิจกรโทรคมนาคม(กทช.)ทบทวนราคาเริ่มต้น แต่หาก กทช.ยังคงราคาเดิม ก็น่าจะมีทางอื่นที่จะเก็บรายได้จากผู้ประกอบการ 3G ในรูปของภาษีสรรพสามิต กทช.ควรจะนำแนวคิดนี้เสนอให้รัฐบาลพิจารณา
รวมทั้ง เสนอให้กทช.รอให้มีการเลือกกรรมการ กทช.ให้ครบถ้วนก่อนเปิดประมูลใบอนุญาต 3G เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางด้านกฎหมายในภายหลัง
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การกำหนดราคาเริ่มต้นใบอนุญาต 3G ควรจะรวมเรื่องสัญญาสัปมทานเดิมไปด้วย จึงเสนอแนะให้ไปทบทวนเรื่องราคาเริ่มต้นและกลับมาทำประชาพิจารณ์อีกครั้ง รวมทั้งขอให้ กทช.ชี้แจงข้อดีข้อเสียในภาพรวม หลังจากตลาดสื่อสารในประเทศมีบริการ 3G เกิดขึ้น
ด้านนายคริสเตียน ดิพพอน รองประธาน บริษัท NERA Economic consultant ในฐานะที่ปรึกษาการประมูลใบอนุญาต 3G กล่าวว่า ผลกระทบด้านการเงินจากประมูล 3G ทางบมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม จะสูญเสียรายได้ประมาณ 7.5 พันล้านบาท แต่การเปิดประมูลจะทำให้รัฐมีรายได้กลับเข้ามาประมาณ 1.88 หมื่นล้านบาท
สำหรับที่มาของการกำหนดราคาเริ่มต้น เป็นการประเมินจากใบอนุญาตของบริษัท ไทยโมบายที่ได้คลื่นความถี่ 1900 เมกะเฮิร์ตซในราคา 200 ล้านบาท มีอายุ 16 ปี 5 เดือน ขณะที่ใบอนุญาตใหม่จะมีอายุ 15 ปี บนคลื่นความถี่ 2100 รวมทั้งนำข้อมูลจาก 16 ประเทศมาประกอบการพิจารณาด้วย
ขณะที่นายเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ กรรมการ กทช.กล่าวว่า กทช.หวังว่าจะไม่ต้องจัดการทำประชาพิจารณ์รอบ 3 อีกแล้ว ยกเว้นจะมีประเด็นใหม่ที่เป็นประเด็นใหญ่ที่จะทำให้ต้องกลับมารับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง
ขั้นตอนต่อไป หลังจากวันนี้แล้วก็ยังจะรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซด์จนถึงวันที่ 25 พ.ย. จากนั้นจะนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์และสรุป คาดหวังไว้ว่าจะสามารถสรุปร่างข้อสนเทศ(IM) และประกาศลงราชกิจจานุเบกษาภายในเดือน ธ.ค.52 ตามที่วางกรอบไว้ และหากเป็นเช่นนั้นก็คาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในเดือน มี.ค.53
ส่วนเรื่องการเลือกกรรมการ กทช.ใหม่ 4 คนนั้นวุฒิสภาจะคัดเลือกในวันที่ 23 พ.ย.นี้ ซึ่งกทช.ไม่กังวลมากนัก โดยหากเลือกได้ก็ต้องรอโปรดเกล้าอีก 1 เดือนจึงจะทำหน้าที่ได้ แต่ก็อาจมีความล่าช้าบ้าง