SAMART-SIM ลดเป้ารายได้-ยอดขายปี 52 งานประมูลล่าช้า-เศรษฐกิจฟุบต้นปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 13, 2009 15:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) คาดว่า กลุ่ม SAMART ในปีนี้จะมีรายได้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่วางไว้ในระดับ 2.3 หมื่นล้านบาท แต่ยังมีการเติบโต 20% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1.6 หมื่นล้านบาท

สาเหตุที่รายได้พลาดเป้าในปีนี้ เนื่องจากงานประมูลในโครงการภาครัฐล่าช้ากว่าแผน อาทิ งานของกรมที่ดินมูลค่า 700 ล้านบาทที่ เดิมคาดว่าจะเซ็นสัญญาและเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่กลางปี 52 แต่เพิ่งได้เซ็นสัญญา และคาดว่าจะไปรับรู้รายได้ในปี 53

นอกจากนั้น ยังคาดว่ายอดขายโทรศัพท์มือถือของ บมจ.สามารถไอโมบาย(SIM) ในปีนี้จะออกมาต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะมียอดขายทั้งในประเทศและต่างประเทศราว 5 ล้านเครื่อง โดยน่าจะมียอดขายเพียง 3.5 ล้านเครื่อง

แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงไตรมาส 4/52 ซึ่งเป็นไฮซีซั่นสำหรับธุรกิจโทรมือถือ จะมีการเปิดตัวโทรศัพท์รุ่นใหม่ และปัญหาการค้างสต๊อคน่าจะหมดไป น่าจะช่วยให้ผลประกอบการของ SIM และ SAMART ทั้งรายได้และกำไรออกมาดีกว่าไตรมาส 3/52 และในเดือน ธ.ค.บริษัทได้ร่วมกับ บมจ.ทีโอที ทำธุรกิจใหม่ คือ Mobile Virtual Network:MVNO โดยวางแผนจำหน่ายร่วมกับอุปกรณ์ลูกข่ายผ่านร้าน i-mobile shop และร้านตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ

"มั่นใจว่าจะได้รับสัมปทานส่วนนี้จากทีโอที แต่ยังไม่ได้สรุปว่าจะได้กี่เลขหมาย จากแผนทีโอทีที่คาดว่าจะมีลูกค้า 3G เบื้องต้น 5 แสนราย ซึ่งน่าจะเริ่มรับรู้รายได้ปี 53 และยิ่งการที่ใบอนุญาต 3G ของกทช.มีความล่าช้าน่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาธุรกิจของทีโอที ที่มีเวลาเพิ่มมากขึ้นในการพัฒนา MVNO"นายวัฒน์ชัย กล่าว

ส่วนบริการ 3G บนคลื่น 2.1 GHz ทาง SAMART คาดว่าจะมีส่วนร่วมในแง่ของการขายอุปกรณ์มากกว่าจะเข้าประมูลใบอนุญาตให้บริการ

นายวัฒน์ชัย กล่าวต่อว่า บริษัทยังเดินหน้าหาธุรกิจเพื่อเข้ามาเสริมรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในช่วง ม.ค.53 จะมีข้อสรุปในการเปิดตัวธุรกิจใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทพิจารณาแผนธุรกิจ หากได้รับการอนุมัติน่าจะใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง โดยจะเป็นธุรกิจในประเทศมีทั้งที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคมและไม่เกี่ยวข้อง

สำหรับ บมจ. สามารถเทลคอม (SAMTEL) ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่มีรายได้และกำไรสูงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากงานประมูลเข้ามาจำนวนมาก โดยช่วงที่เหลือของปีคาดว่าจะได้เซ็นสัญญาได้อีก 1.2-1.5 พันล้านบาท โดยเป็นงานของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงไอซีที และบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และมีมูลค่าโครงการที่ประมูลได้ปีนี้ถึง 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า SAMTEL จะมีรายได้ที่เติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่ทยอยรับรู้รายได้

นายวัฒน์ชัย กล่าวถึงธุรกิจของกลุ่ม SAMART ในกัมพูชาว่า คงจะไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา แม้ว่าล่าสุดพนักงานวิศวกรของ บริษัท กัมพูชา แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส(CATS)จะถูกควบคุมตัว 1 คนเนื่องจากพบว่ามีการส่งข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางของสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มายังประเทศไทย

"ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้เป็นข้อมูลเชิงลึก และเป็นข้อมูลที่พนักงานส่วนใหญ่ได้รับอยู่แล้ว เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อใบอนุญาตประกอบการบินในกัมพูชา และเชื่อว่าตัวธุรกิจการบินจำเป็นต้องใช้มาตรฐานและความเชี่ยวชาญเฉพาะ"นายวัฒน์ชัย กล่าว

ในส่วนของธุรกิจไฟฟ้า ก็ยังคงดำเนินการอยู่ตามปกติ และลูกค้าของบริษัท คือ บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย ที่มีสัญญาซื้อไฟระยะยาว 10 ปีอยู่แล้ว ดังนั้นไม่น่าจะมีปัญหาใดๆ

อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจก็คงยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ถือว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความเสี่ยงแต่ในส่วนของบริษัทยังสามารถที่จะดูแลและควบคุมได้



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ