บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์(TTA) เดินหน้ารุกขยายการลงทุนในธุรกิจด้านอื่น ๆ ต่อยอดธุรกิจเดินเรือเพื่อกระจายความเสี่ยง ทั้งพลังงาน ขนส่ง และ สาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 56 สัดส่วนรายได้ของแต่ละธุรกิจจะขยับมาอยู่เท่า ๆ กัน ซึ่งบริษัทมีความพร้อมเรื่องเงินลงทุน หากเห็นโอกาสทางธุรกิจก็อาจจะกู้เงินเพิ่มเติมจากที่ทำสัญญากู้ในวันนี้ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้ามีการเจรจาซื้อกิจการอื่น ๆ นอกเหนือจากที่เจรจาอยู่ 4-5 ราย
"บริษัทยังมองหาโอกาสเข้าซื้อกิจการใน 3 ธุรกิจ คือ ขนส่ง พลังงาน สาธารณูปโภคฯ หากมีโอกาสนอกเหนือจากที่บริษัทกำลังเจรจาอยู่ 4-5 ดีลในต่างประเทศ บริษัทก็ยังมีความสามารถในการกู้เงินเพิ่มได้อีก ปัจจุบันมี D/E อยู่ที่ 0.2 เท่า จากนโยบายที่วางไว้ที่ 1.5 เท่า ขณะเดียวกันกระแสเงินสดของบริษัทก็ยังเหลืออยู่ 6-7 พันล้านบาท ลดลงจากต้นปีที่มี 1.3 หมื่นล้านบาท" ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการ TTA กล่าว
วันนี้ TTA เซ็นสัญญากู้เงิน Syndicated Loan จำนวน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารมิซูโฮ โดย TTA มีแผนจะนำไปใช้เป็นเงินทุนสำรองสำหรับใช้ขยายธุรกิจใน 2 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในธุรกิจขนส่ง ธุรกิจพลังงาน และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
ม.ร.ว.จันทรจุฑา กล่าวว่า บริษัทต้องการเพิ่มความหลากหลายและกระจายความเสี่ยงของแหล่งรายได้ โดยมองว่าในปีหน้าธุรกิจขนส่งเรืออาจจะทำได้แค่ทรงตัว แม้ว่าในด้านดีมานด์หรือความต้องการขนส่งสินค้าจะเพิ่มขึ้นบ้างแต่ยังไม่ค่อยดีนัก ขณะที่ด้านซัพพลายหรือจำนวนเรือขนส่งยังมีอยู่มาก คาดว่าค่าระวางเรือในปีหน้าจะทรงตัวใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 1.1 หมื่นเหรียญ/ลำ/วัน
แต่เนื่องจากบริษัทมีธุรกิจใหม่เพิ่มเข้ามาในปีนี้ คือ ถ่านหินในไทยและฟิลิปปินส์ , ธุรกิจปุ๋ยและโลจิสติกส์ในเวียดนาม ก็น่าจะช่วยทำให้รายได้และกำไรในปีหน้าจะดีกว่าปีนี้มาก
"ถ้าเราทำดีลแบบ UMS ทั้ง 4 ดีลที่เจรจาอยู่ เงินที่กู้ไปก็อาจจะไม่พอ แต่ถ้าทำดีลแบบเวียดนามก็ยังพออยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าเราก็ยังมองหาโอกาสเข้าไปลงทุนใน 3 ธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นอีก"ม.ร.ว.จันทรจุฑา กล่าว
TTA คาดว่าในปีหน้าสัดส่วนรายได้จากค่าระวางเรือจะลดลงจากปี 52 ที่มีสัดส่วน 65.70% ส่วนรายได้จากธุรกิจเมอร์เมดและการลงทุนด้านอื่น ๆ จะเพิ่มขึ้น บริษัทตั้งเป้าว่าภายในปี 56 รายได้จากธุรกิจอื่น ๆ จะปรับสัดส่วนขึ้นมาใกล้เคียงกัน ทั้งนี้เพื่อกระจายความเสี่ยงของแหล่งรายได้