นายจักรกริช เจริญเมธาชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ฟาร์อีสท์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะรีบาวน์ขึ้นตามตลาดต่างประเทศ โดยเช้านี้ตลาดหุ้นอื่นในแถบภูมิภาคเอเชียต่างปรับตัวขึ้นกันทั่วหน้า หลังตลาดสหรัฐฯปรับตัวขึ้น
แต่การรีบาวน์ขึ้นของตลาดบ้านเราอาจจะเป็นเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะอยู่ในทิศทางการแกว่งตัวในกรอบแคบ ในลักษณะซึมตัวลง เนื่องจากตลาดฯไม่ได้มีเม็ดเงินใหม่ไหลเข้ามา ประกอบกับปัจจัยทางด้านการเมืองในประเทศ และระหว่างประเทศ รวมถึงกรณีปัญหามาบตาพุด ก็ยังเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดฯอยู่ ทำให้แรงขายน่าจะยังมีอยู่
นอกจากนี้ ควรระวังแรงขายหุ้นในกลุ่มพลังงาน เนื่องจาก Fund Flow โดยรวมยังขายอยู่ พร้อมให้แนวรับไว้ที่ 681 จุด แนวต้าน 700 จุด
ประเด็นของการพิจารณาการลงทุน :
- ตลาดหุ้นนิวยอร์คเมื่อวานนี้(23 พ.ย.) ดัชนีดาวโจนส์ ปิดที่ 10,450.95 จุด เพิ่มขึ้น 132.79 จุด(+1.29%) ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 1,106.24 จุด เพิ่มขึ้น 14.86 จุด(+1.36%) และดัชนีแนสแด็ก ปิดที่ 2,176.01 จุด เพิ่มขึ้น 29.97 จุด (+1.40%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,397.06 ล้านบาทเมื่อวานนี้
- ราคาน้ำมันดิบส่งมอบเดือน ม.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการวานนี้ที่ 77.56 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.09 ดอลลาร์
- สศช.ชี้ไตรมาส 3 ติดลบ 2.8% ประเมินไตรมาส 4 บวก 2.7-3.2% ส่งผลให้ทั้งปีติดลบไม่เกิน 3% ส่วนปีหน้าขยายตัว 3-4% โดยการใช้จ่ายภาครัฐกับเอกชนยังต้องเป็นตัวนำอยู่ พร้อมเตือนความเสี่ยง เศรษฐกิจโลก-การเมือง-ปมมาบตาพุด แนะรัฐบาลห้ามเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจ และต้องมีความต่อเนื่อง เดินหน้าลงทุน 8 แสนล้านบาท พยุงประเทศปีหน้า
- "จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล" รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เผยการเบิกจ่ายงบโครงการไทยเข้มแข็ง2555 ยังล่าช้ามาก โดยในปี 2552 เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท เบิกจ่ายได้แค่ 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
- การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันนี้ จะเสนอให้พิจารณาทบทวนมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนใน 5 มาตรการ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เสนอมา
- "อรรชกา สีบุญเรือง" เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยแนวโน้มการลงทุนในปี 2553 น่าจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว ซึ่งคาดว่ายอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2552 อยู่ที่ระดับ 4 แสนล้านบาท โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติจะเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นหลังจากในปี 2552 โครงการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติเฉลี่ยทั้งปีลดลง 30%
- ธปท.เล็งปรับเป้าเงินเฟ้อยืนระดับ 0.5-3.0% เพื่อให้ทันประกาศใช้ ม.ค.ปีหน้า ประเมินหากเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องและมีแรงเหวี่ยงที่ดี นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายคงไม่จำเป็นอีกต่อไปแต่ต้องประเมินเศรษฐกิจว่าฟื้นตัวยั่งยืนหรือไม่
- ผลสำรวจ ก.ล.ต.ระบุ 5 ปัจจัยเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ กดดันตลาดทุนทั่วโลก ต้องเร่งปรับตัวในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ได้แก่ โลกเศรษฐกิจเบนมาสู่เอเชียครั้งแรก ปัญหาประชากรโลก การเชื่อมโยงโลกต่อโลกมากขึ้น-เทคโนโลยีใหม่ และกฎเกณฑ์ของตลาดโลกจะเปิดมากขึ้น ขณะที่ "กัมปนาท" ประกาศลาออกทุกตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน เพื่อนั่งเก้าอี้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับตลาดทุน