นายชูเกียรติ โพธยานุวัตร ว่าที่ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ถึงการดำเนินงานโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-ท่าพระ กับหัวลำโพง-บางแคว่า วานนี้คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบปรับกรอบวงเงินเพิ่มเป็น 52,460 ล้านบาท จากเดิม 48,821 ล้านบาทแล้ว รฟม.จะจัดตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลางเพื่อประเมินราคาทั้ง 5 สัญญา คาดว่าจะนำเสนอต่อคณะกรรมการ รฟม.ประมาณกลางเดือน ธ.ค.นี้ จากนั้นจะทยอยเริ่มขั้นตอนการเปิดประมูลทั้ง 5 สัญญาภายในเดือน ม.ค.53
"คิดว่าได้ผู้รับเหมาภายในเดือนกันยายน 53 และก็จะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนพฤศจิกายน 53 ใช้เวลา 5 ปี...การดำเนินการสายสีน้ำเงินจะใช้เวลาเร็วกว่าสายสีม่วงประมาณ 4-5 เดือน เพราะเราใช้เงินกู้ในประเทศทั่งหมด"นายชูเกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ งานโยธาของส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินจะแยกเป็น 5 สัญญา แบ่งเป็นงานก่อสร้างโครงสร้างใต้ดิน 2 สัญญา คือ สัญญาที่1 ช่วงหัวลำโพง-สนามชัย ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร จำนวน 2 สถานี วงเงิน 11,649 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 ช่วงสนามชัย-ท่าพระ ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร จำนวน 2 สถานี วงเงิน 10,818 ล้านบาท
ส่วนโครงสร้างยกระดับ 2 สัญญา คือ สัญญาที่3 ช่วงเตาปูน-ท่าพระ ระยะทาง 11 กิโลเมตร จำนวน 8 สถานี วงเงิน 11,395 ล้านบาท สัญญาที่ 4 ช่วงท่าพระ-หลักสอง(บางแค) รวมงานศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร จำนวน 7 สถานี วงเงิน 13,429 ล้านบาท ส่วนสัญญาที่ 5 คือ งานระบบรางวงเงิน 5,169 ล้านบาท
สำหรับการเปิดประมูลหาผู้เดินรถและลงทุนระบบการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง(บางซื่อ-บางใหญ่)นั้น นายชูเกียรติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)จะนำเสนอต่อ ครม.ภายในเดือน ธ.ค.52 โดยในหลักการจะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนระบบการเดินรถ และรัฐจะจ่ายเงินคืนภายหลัง รวมทั้งรูปแบบบริการการเดินรถจะเป็นลักษณะว่าจ้าง ไม่ใช่เป็นการให้สัมปทาน
ผู้ว่า รฟม.คาดว่า จะจัดทำร่างทีโออาร์แล้วเสร็จประมาณเดือน ม.ค. 53 และจะเปิดประมูลได้ในเดือน ก.พ.-มี.ค. 53 คาดว่าจะรู้ผลหลังจากนั้นประมาณ 3-4 เดือน
"BMCL คงไม่ได้เปรียบ ถ้าเขาสนใจก็ต้องเข้าร่วมประมูล จะคุยก่อน ขึ้นอยู่กับกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้ ยังตอบไม่ได้ ถ้ากรรมการอาจดูว่าตรงไหนรัฐน่าจะได้ประโยชน์ ประชาชนได้ความสะดวกสบายก็คงจะดูเป็นทิศทางอย่างนั้น"นายชูเกียรติ กล่าว
สำหรับการลงนามในสัญญาว่าจ้างการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง สัญญาที่ 2 และสัญญาที่ 3 นายชูเกียรติ กล่าวว่า ขณะนี้ทางอัยการยังไม่ได้ส่งร่างสัญญากลับมา แต่คาดว่าจะสามารถลงนามได้ทันภายในปี 52
ทั้งนี้ บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) เป็นผู้ชนะการประมูล ในวงเงิน 13,100 ล้านบาท สำหรับสัญญาที่ 2 โครงสร้างยกระดับส่วนตะวันตก จากสถานีสะพานพระนั่งเกล้า-สถานีคลองบางไผ่ และงานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศใต้ของสะพานพระนั่งเกล้า
และสัญญาที่ 3 เป็นงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดรถ ที่กลุ่มพีเออาร์จอยท์เวนเจอร์ ประกอบด้วย บมจ. แอสคอน คอนสตรัคชั่น (ASCON) ,บมจ. เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง (PLE) และ บริษัท รวมนครก่อสร้าง เป็นผู้ชนะการประมูล วงเงิน 5,025 ล้านบาท
ส่วนสัญญาที่ 1 ซึ่ง บมจ. ช.การช่าง(CK) ชนะการประมูล และลงนามสัญญาไปแล้ว จะเริ่มงานก่อสร้างในเดือนหน้า