กบง.มีมติชดเชยส่วนต่าง LPG ให้ PTT ตามจริง ยกเลิกเพดาน 500 ลบ./เดือน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 25, 2009 13:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน(กบง.) มีมติให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ในส่วนของหนี้ใหม่ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นให้กับ บมจ.ปตท.(PTT) โดยไม่กำหนดเพดานราคา เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย.นี้เป็นต้นไป

เดิม กบง.กำหนดให้หนี้ใหม่ที่เกิดขึ้นในปี 52 มีการชดเชยเดือนละไม่เกิน 500 ล้านบาท แต่หนี้เก่าที่เกิดในปี 51 ยังคงชดเชยในอัตราเดิมเดือนละ 500 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ มีหนี้ดังกล่าวคงเหลือทั้ง 2 ส่วน คือ หนี้เก่าที่เกิดในปี 51 ประมาณ 3,000 ล้านบาท และหนี้ใหม่ที่เกิดขึ้นในปี 52 ประมาณ 4,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมามีส่วนต่างราคานำเข้า LPG ถึง 1,100 ล้านบาท เนื่องจากมีปริมาณนำเข้าที่สูงถึง 1.12 แสนตัน และราคาสูงถึง 700 เหรียญสหรัฐ/ตัน ทำให้ ปตท.ต้องรับภาระที่เพิ่มขึ้น กบง.จึงต้องการลดภาระให้กับ ปตท. คาดว่าหากมีการปรับเพดานการจ่ายชดเชยหนี้ LPG แล้ว จะทำให้มีหนี้ค้างอยู่ประมาณ 7,000 ล้านบาท ก่อนสิ้นปี 53

สำหรับการนำเข้า LPG ตั้งแต่ปีก่อนจนถึงเดือน ต.ค.ปีนี้มีปริมาณรวม 966,021 ตัน แบ่งเป็น ปีที่แล้ว 446,414 ตัน และปีนี้ 519,607 ตัน และคาดว่าในเดือน พ.ย.-ธ.ค.ปีนี้มีแนวโน้มที่จะนำเข้ามากเกินกว่า 1 แสนตัน/เดือน ส่วนปีหน้าคาดว่าจะมีการนำเข้าไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน

รมว.พลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบในหลักการให้นำเงินจากกองทุนน้ำมันฯ จ่ายชดเชยให้กับรถแท๊กซี่ที่จะเปลี่ยนจากระบบเชื้อเพลิงจาก LPG มาใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์(NGV) โดยสนับสนุนการประกวดราคาซื้อถังเอ็นจีวี และอุปกรณ์ส่วนควบ เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและจูงใจให้รถแท็กซี่ที่มีเหลืออยู่ประมาณ 3 หมื่นคันหันมาติดตั้งเอ็นจีวีได้ทั้งหมด

รมว.พลังงาน คาดว่า ในเดือน ม.ค.53 จะสามารถประกาศใช้น้ำมันดีเซล บี3 ทดแทนน้ำมันดีเซล บี2 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยจะนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาเพื่ออนุมัติในที่ประชุมฯ ครั้งต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ทำโครงสร้างราคาอยู่ ซึ่งคาดว่าโครงสร้างราคาจะเท่ากับ บี2 และมีการจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในอัตราเดียวกับบี2 ที่ 53 สตางค์/ลิตร

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) จะมีการพิจารณาอนุมัติสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในโครงการหงสาลิกไนต์ในประเทศลาว ซึ่ง บมจ.บ้านปู(BANPU) และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH) ถือหุ้นใหญ่ เพื่อเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยโครงการนี้เป็นโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหิน ที่มีกำลังการผลิตประมาณ 1,878 เมกะวัตต์ และอนุมัติข้อตกลงความร่วมมือเบื้องต้น(เอ็มโอยู) เพื่อซื้อขายไฟฟ้าในโครงการพลังน้ำเมย-กก ในประเทศพม่า ขนาดกำลังการผลิต 400 เมกะวัตต์

นอกจากนี้จะพิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการโรงไฟฟ้าบางคล้า ของบริษัท สยาม เอ็นเนอร์จี จำกัด ที่อยู่ใน อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) เพราะไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลการทำอีไอเอได้ จึงได้ยื่นเรื่องขอย้ายโครงการไปที่อื่น ทำให้ กพช.ต้องพิจารณาว่าจะมีความเห็นอย่างไร

ทั้งนี้ตัวแทนสหภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(สร.กฟผ.)ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกรณีประมูลโรงไฟฟ้าเอกชน และศึกษาโครงสร้างก๊าซธรรมชาติต่อ สนพ. และนายกรัฐมนตรีไปแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ