AMAC ปรับกลยุทธนำเข้าแทร็กเตอร์จีนแทนผลิตเอง เริ่มเทรดดิ้งเหล็กตามแผน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 25, 2009 14:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุทธิศักดิ์ โล่ห์สวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อะโกร อินดัสเตรียล แมชชีนเนอรี่(AMAC)เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ขณะนี้บริษัทได้ปรับแผนธุรกิจด้วยการนำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตรประเภทแทร็กเตอร์จากประเทศจีนที่ผลิตภายใต้รูปแบบและเทคโนโลยีของบริษัทเข้ามาจำหน่ายภายใต้แบรนด์"สิงห์คะนองนา"แทนการผลิตเอง เพื่อลดต้นทุนทางธุรกิจ หลังจากที่ได้หยุดสายการผลิตบางส่วนที่ Over capacity ไปตั้งแต่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา

"ตอนนี้มีการนำเข้าเครื่องยนต์มาทดสอบแล้ว ถ้าทดสอบแล้วดี ถูกกว่าผลิตเองและใช้ได้เราก็ต้องพิจารณา เพื่อลดต้นทุน ถ้าจีนทำได้ถูกกว่าก็เหมือนกับเรา Outsource เราจะ Outsource ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะทุกวันนี้เราก็ Outsource ส่วนหนึ่งเป็นชิ้นส่วน และแค่มาประกอบ เพราะฉะนั้นชิ้นส่วนตรงนี้เอามาจากต่างประเทศได้และถูกกว่า คุณภาพเดียวกันเราก็เอามา Assembly ซึ่ง Line Assembly ก็ไม่ได้ลงทุนอะไรมาก"นายสุทธิศักดิ์ กล่าว

อนึ่ง บริษัทชี้แจงข้อมูลกรณีที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินไตรมาส 3/52 ว่า การนำเข้าเครื่องยนต์จากจีนส่งผลให้ต้นทุนสินค้าลดลงและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในประเทศได้ บริษัทฯ จึงได้หยุดสายการผลิตและเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดตามกฎหมายแรงงาน โดยจัดตั้งบริษัทย่อยขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจด้านการขายเครื่องจักรกลทางการเกษตรต่อไปและจะจัดรับพนักงานส่วนสำนักงานเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไป ทั้งนี้ไม่รวมถึงธุรกิจเหล็กที่ได้เริ่มดำเนินการในเดือนพฤศจิกายนนี้

นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากบริษัทได้หยุดสายการผลิตบางส่วนไปตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย.ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถกลับมาผลิตได้อีกหรือไม่ และในสต็อกเครื่องยนต์ที่บริษัทผลิตเองยังมีเหลืออยู่ราว 300-400 เครื่อง ซึ่งบริษัทก็จะพยายามเร่งทยอยขายออกไปในช่วงที่เหลืออีก 1 เดือนสุดท้ายในปีนี้ เพื่อลดโหลดลงมา ส่วนจะขายได้เท่าไรก็ยังไม่ทราบ

"การที่เราคงคนงานไว้เพื่อจะผลิตเครื่องยนต์เป็นหมื่นตัว แต่เราขายได้แค่ 3-4 พันตัวต่อปี เราก็แบกภาระมา 3 ปีแล้ว ก็ต้องเลิกจ้างบางส่วน โดยเฉพาะไลน์ในการผลิตที่ Over Capacity เราพยายามทำตลาด แต่เมื่อยังไม่สอดคล้องเรื่องการแข่งขันในตลาดรุนแรงมากเราก็ต้องซัพพอร์ตตัวเองให้อยู่รอด ต้องลดต้นทุนที่ทำอะไรได้บ้าง"นายสุทธิศักดิ์ กล่าว

นายสุทธิศักดิ์ กล่าวถึงผลประกอบการไตรมาส 4/52 ว่า ยังเหนื่อยจากไตรมาส 3/52 ที่ขาดทุน 82 ล้านบาท เพราะการแข่งขันในตลาดเครื่องยนต์การเกษตรรุนแรงมาก คู่แข่งมีกลยุทธโปรโมชั่นต่าง ๆ เพื่อผลักดันยอดขายค่อนข้างมาก แต่ขณะนี้ดีขึ้นบ้างแล้ว เนื่องจากบริษัทมีสภาพคล่องเข้ามา ซึ่งบริษัทจะทำตลาดให้มากขึ้น โดยเน้นในประเทศเป็นหลัก

"ยังมีคู่แข่งโฆษณาทีวีทุกวัน มีแจกทอง แจกอะไรต่างๆ ก็ทำให้เราเหนื่อยจริงๆ แต่ตอนนี้ก็น่าจะดีขึ้นบ้าง เพราะได้วงเงินจาก leasing มา backup ตัวสินค้าก็พอสู้ได้ ตอนนี้ก็ต้องบุกตลาดให้หนักขึ้น"นายสุทธิศักดิ์ กล่าว

นอกจากนั้น ในช่วงไตรมาส 4/52 คงจะไม่มีภาระในการตั้งค่าเผื่อมูลค่าสินค้าลดลงแล้ว หลังจากที่ได้ตั้งสำรองไปแล้วในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ก่อนทีจะมีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามา ส่วนทั้งปีนี้จะขาดทุนหรือไม่ หลังจากงวด 9 เดือนขาดทุนถึง 82 ล้านบาทก็ยังตอบอะไรชัดเจนไม่ได้ แต่คงไม่มีใครอยากขาดทุนแน่

"ไตรมาส 4 คิดว่าไม่ต้องมาตั้งสำรองแล้ว เพราะคิดว่าส่วนใหญ่น่าจะตั้งไปหมดแล้วเพราะทางผู้ถือหุ้นกับกรรมการใหม่ก็อยากจะเคลียร์ภาพตรงนี้ให้ชัดเจน" นายสุทธิศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ นายสิริวัฒน์ โตวชิรกุล กรรมการ AMAC กล่าวว่า เมื่อต้นเดือน พ.ย.บริษัทได้เริ่มเทรดดิ้งธุรกิจเหล็กแล้ว หลังจากที่ได้รับเงินจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดประมาณ 75 ล้านบาท

"เงินเข้ามาก็เริ่มทำทันทีเลย 75 ล้านบาท ก็ไปลงเทรดดิ้งเหล็กทั้งหมด"นายสิริวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ AMAC ได้รับเงินเพิ่มทุนต่ำกว่าที่คาด เนื่องจากขายหุ้นเพิ่มทุนไม่ครบตามจำนวน สาเหตุมาจากนายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ยกเลิกการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 84,000,000 หุ้น จากทั้งหมดที่เสนอขาย 336,000,000 หุ้น ที่ราคา 0.30 บาท/หุ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ