BMCL คาด Q1/53 เริ่มเห็น EBITDA บวกได้ต่อเนื่อง,ทั้งปีขาดทุนแต่ลดจากปี 52

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 25, 2009 15:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้บริหาร บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL)มั่นใจปี 53 ผลประกอบการดีขึ้น โดยคาดกำไรก่อนหักค่าเสื่อมและดอกเบี้ย (EBITDA)จะบวกได้ต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกปีหน้า แม้ทั้งปีหน้าจะยังขาดทุน แต่คาดว่าจะลดลงอย่างมากจากปี 52 เป็นผลจากรายได้จากค่าโดยสารเติบโต 10% จากปี 52 ตามจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น และการปรับขึ้นค่าตั๋วโดยสารในช่วง ก.ค.53 ตามแผนงานที่กำหนดไว้ ประกอบกับ การควบคุมค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทยืนยันความพร้อมเข้าประมูลบริหารเดินรถสายสีม่วงในปีหน้า

"ปีหน้าผลขาดทุนจะลดลงเยอะคนละเรื่องกับปีนี้ มีแนวโน้มว่า EBITDA ปีหน้าจะค่อยๆบวกมากขึ้น เริ่มเห็นในไตรมาสแรก ซึ่งก็หมายความว่าเราสามารถอยู่ได้ด้วยตัวของเราเอง...เราเห็นทิศทางบวกตั้งแต่ไตรมาส 4/52 ที่ EBITDA ติดลบน้อยลง จากที่ ต.ค.เป็นบวกมาได้ เพราะฉะนั้นปีหน้า เริ่มจะเห็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ"นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BMCL กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ในช่วงเดือน ต.ค.52 พบว่า EBITDA พลิกขึ้นมาเป็นบวกได้เป็นครั้งแรก เนื่องจากมีการจัดงานอีเว้นท์มากในพื้นที่กทม.ทำให้จำนวนผู้โดยสารเติบโตขึ้นมาก แต่ในเดือน พ.ย.และ ธ.ค.ก็ยังคาดว่า EBITDA จะกลับไปเป็นลบเหมือนเดิม โดยเฉพาะเดือน ธ.ค.ที่มีวันหยุดมาก

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าในปี 52 EBITDA จะติดลบไม่ถึง 200 ล้านบาท ลดลงจากปี 51 ที่ติดลบ 280 ล้านบาท

"ภาพรวมปี 52 รายรับรายจ่ายเริ่มตรงกัน EBITDA ค่อยๆ ลบน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนปีหน้าก็จะตรงกันข้ามคือ EBITDA ก็จะค่อยๆ บวกขึ้นเรื่อยๆ ที่เป็นอย่างนี้ได้ เพราะเรามี income มากขึ้น และการควบคมุรายจ่ายอยู่ในเกณฑ์ดี...เรามั่นใจว่า growth revenue จะเติบโต"นายสมบัติ กล่าว

บริษัทคาดว่าในปีหน้ารายได้ค่าโดยสารจะเติบโต 10% จากปี 52 ที่เติบโตพลาดเป้าเหลือแค่ 8% นอกจากนี้ รายได้จากบริษัทย่อยที่ดำเนินกิจการธุรกิจโฆษณาภายในสถานีและรายได้อื่นจะมีเข้ามาเพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่ารายได้รวมในปี 53 จะเพิ่มขึ้น 13% เป็น 1.7 พันล้านบาท จากปีนี้คาดว่าจะมีรายได้รวม 1.5 พันล้านบาท

ในด้านจำนวนผู้โดยสารคาดว่าปีหน้าจะมีจำนวนเฉลี่ย 2 แสนคน/วัน เพิ่มขึ้นจากปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1.9 แสนคน/วัน โดยในวันธรรมดาจะอยู่ที่ประมาณ 2.1 แสนคน/วัน จากปีนี้ที่ตั้งเป้าไว้ 2 แสนคน/วัน ส่วนวันเสาร์และอาทิตย์ ยังคงประมาณการเดิมที่ 1.5 แสนคน/วัน และ 1 แสนคน/วันตามลำดับ

นายสมบัติ กล่าวว่า บริษัทยังมีแผนจะปรับค่าโดยสารในเดือน ก.ค.53 ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานให้ปรับขึ้นได้ทุก 2 ปี โดยจะต้องพิจารณาดัชนีผู้บริโภค(CPI)มาอ้างอิง ซึ่งบริษัทจะเริ่มทำหนังสือขอปรับขึ้นค่าโดยสารในช่วงเดือน ธ.ค.52

ปัจจุบัน ค่าโดยสารอยู่ที่ 16-41 บาท จากตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ(วันที่ 3 ก.ค.47)มีค่าโดยสาร 12-36 บาท และปรับขึ้นมาเป็น 14-39 บาทในอีก 2 ปีถัดมา ก่อนจะปรับมาใช้อัตราปัจจุบัน

นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการบริหารได้ดี และจะควบคุมค่าใช้จ่ายต่อไป ที่สำคัญ คือการลดภาระดอกเบี้ย โดยปีนี้ได้ขอปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 3.75% จาก MLR+0.25% รวมถึงเงินต้น 1 หมื่นล้านบาทก็หยุดชำระไปก่อนเช่นกัน ไปจนถึงปี 56 ทำให้บริษัทลดภาระดอกเบี้ยได้มาก ในช่วงที่ยังไม่มีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าเข้ามาในระบบ

“เรายอมรับว่า ผลประกอบการเราขาดทุน แต่เรามีความหวังอนาคตเราจะมีดีขึ้น ตอนนี้เป็นโอกาสคนซื้อหุ้นเรา เพราะเป็นหุ้น utilities จะมีผลประกอบการขาดทุนอยู่ แต่ปีหน้ามีแนวโน้มเชิงบวก และถ้าดีขึ้นจะดีสม่ำเสมอ"นายสมบัติ กล่าว

*เข้าร่วมประมูลเดินรถสายสีม่วงปีหน้า

กรรมการผู้จัดการ BMCL กล่าวว่า บริษัทคาดว่าภาครัฐจะเปิดประมูลผู้เดินรถสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) ได้ในต้นปีหน้า และการดำเนินการเปิดประมูลส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-ท่าพระ กับหัวลำโพง-บางแค ก็คาดว่าจะทำให้การเปิดให้บริการเดินรถทยอยตามมา ทั้งสายสีม่วงและส่วนต่อขยายสีน้ำเงิน ห่างกัน 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง

ทั้งนี้ บริษัทประเมินเบื้องต้นว่า หากได้เป็นผู้เดินรถทั้งสายสีม่วง และส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน บริษัทจะสั่งซื้อรถไฟฟ้าในคราวเดียวกันประมาณ 50 ขยวน โดยส่วนหนึ่งหรือประมาณ 5 ขบวนมารองรับเส้นทางที่เดินรถในปัจจุบัน โดยขณะนี้บริษัทมี 19 ขบวน สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 3 แสนคน/วัน

"ถ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง เปิดบริการ ก็เป็นเรื่องดี โดยเฉพาะการเดินรถสายสีน้ำเงิน ยิ่ทำให้เรามีความมั่นใจ และเมื่อสายสีม่วงได้เปิดให้บริการเมือไร เราก็จะเห็นกำไรได้แน่นอน"นายสมบัติ กล่าว

นายสมบัติ กล่าวว่า บริษัทไม่สามารถทำกำไรได้ตามเป้าหมาย มาจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือการสร้างส่วนต่อขยายล่าช้า รวมถึง การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ด้วย แต่ก็ยังเชื่อว่าสุดท้ายไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามา ก็จะต้องสนับสนุนการลงทุนสร้างระบบรถไฟฟ้าเพิ่มเติมทั้งนั้น

"เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเองได้ คือการสร้างส่วนต่อขยาย โดยตอนที่ตั้งบริษัทคาดการณ์กันว่าส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าจะเกิดขึ้นเร็ว เพราะไม่ว่ารัฐบาลไหนก็จะพูดถึงเรื่องนี้ แต่เนื่องจากส่วนต่อขยายมาล่าช้า ทำให้ผลประกอบการไม่เข้าเป้า ทำให้เกิดความยากลำบากของเรา"นายสมบัติ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ