ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือภายในประเทศระยะยาวของบมจ. หลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) (KEST) ที่ระดับ 'A(tha)' โดยให้แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และยังได้คงอันดับความน่าเชื่อถือภายในประเทศระยะสั้นที่ 'F1(tha)'
การจัดอันดับเครดิตของ KEST สะท้อนให้เห็นถึงเครือข่ายธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ในประเทศของ KEST ที่แข็งแกร่ง รวมทั้งการสนับสนุนจากบริษัทแม่คือบริษัทกิมเอ็งโฮลดิ้งส์ จำกัด ในสิงคโปร์ (KEH) และสถานะเงินทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง KEST ยังคงดำเนินธุรกิจโดยใช้กลยุทธ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยสัดส่วนการทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงและมีความผันผวนมีค่อนข้างน้อย ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถรักษาเสถียรภาพของผลการดำเนินงานได้ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ KEST มาจากความแข็งแกร่งทางการตลาดและสถานะเงินทุนและสภาพคล่องที่ยังคงแข็งแกร่งของบริษัท ความเสี่ยงต่อการปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดจากสภาพตลาดทุนที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้หรือจากการ ขยายธุรกิจส่วนใหญ่ไปในธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น
สำหรับผลการดำเนินงานของ KEST อยู่ในระดับที่ค่อนข้างคงที่ แม้ว่าสภาวะตลาดในปี 2551 จะอ่อนแอ บริษัทมีกำไรสุทธิ 534.8 ล้านบาทในปี 2551 ค่อนข้างคงที่จากปีก่อนหน้าแม้ว่ารายได้จากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์จะลดลงในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 กำไรสุทธิในเก้าเดือนแรกของปี 2552 อยู่ที่ 520.3 ล้านบาทปรับตัวเพิ่มขึ้น 21% จากปีก่อน เนื่องจากรายได้จากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นจากการฟื้นตัวของตลาดหลักทรัพย์ ROAA ต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 10.5% ในเก้าเดือนแรกของปี 2552 จาก 8.8% ในปี 2551 ในขณะที่ ROAE ต่อปี ก็มีการปรับตัวสูงขึ้นเป็น 16.2% จาก 12.8% รายได้จากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ยังคงเป็นสัดส่วนใหญ่ของโครงสร้างรายได้ โดยมีสัดส่วน 91% ของรายได้ทั้งหมดในเก้าเดือนแรกของปี 2552 (87% ในปี 2551) ฟิทช์เชื่อว่าการเปิดเสรีค่านายหน้าธุรกิจค้าหลักทรัพย์ในปี 2553 อาจมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของ KEST ในระดับหนึ่ง
KEST มีการปล่อยสินเชื่อเพื่อการซื้อหลักทรัพย์มากกว่าคู่แข่งเนื่องจากบริษัทมีฐานลูกค้ารายย่อยมากกว่า ซึ่งลูกค้าในกลุ่มนี้เป็นผู้กู้หลักของสินเชื่อเพื่อการซื้อหลักทรัพย์ สินเชื่อเพื่อการซื้อหลักทรัพย์อยู่ที่ 2.1 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 หรือ 49% ของส่วนของผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ตามความเสี่ยงทางด้านเครดิตยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูง เนื่องจากความเสี่ยงได้ถูกลดทอนลงโดยการเรียกหลักทรัพย์เพิ่มและการบังคับขายหลักทรัพย์ สินเชื่อด้อยคุณภาพซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ยังอยู่ในระดับคงที่ที่ 292 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 หรือ 5% ของสินเชื่อรวม ซึ่งสินเชื่อด้อยคุณภาพในส่วนนี้ได้มีการตั้งสำรองครบถ้วนแล้ว ส่วนความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของตลาดยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจาก KEST ไม่มีการลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อตัวบริษัทเอง อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทมีแผนที่จะออก derivative warrants ในปีหน้าอาจทำให้มีความเสี่ยงที่สูงขึ้น