RPC ยื่นอนุญาโตตัดสินข้อพิพาทกรณี PTT ยกเลิกสัญญาซื้อขายคอนเดนเสท

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 3, 2009 09:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ. ระยองเพียวริฟายเออร์ (RPC) เปิดเผยว่า บริษัทได้ยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการในวันที่ 3 ธ.ค.52 เพื่อให้องค์กรกลาง ร่วมพิจารณาหาข้อสรุป ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการหาข้อยุติที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายวัตถุดิบคอนเดนเสทเรสซิดิวที่บริษัททำไว้กับ บมจ. ปตท.(PTT) ซึ่งผลิตโดย บมจ. ปตท.อะโรเมติกส์ และการกลั่น (PTTAR) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2538 โดยสัญญามีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน ผูกพันระยะยาวแบบไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด (Evergreen Basis) และได้ดำเนินธุรกิจตามสัญญาร่วมกันด้วยดีตลอดมา

ต่อมา PTT ได้ส่งจดหมายแจ้งขอยกเลิกสัญญาการซื้อขายวัตถุดิบคอนเดนเสทเรสซิดิว กับ บริษัทฯ ลงวันที่ 30 กันยายน 2552 โดยจะขอยกเลิกสัญญาเมื่ออายุสัญญาครบ 15 ปี ในปี 2555 ซึ่งเป็นการแจ้งล่วงหน้าถึง 3 ปี บริษัทฯ ได้เชิญทางปตท.เข้าร่วมหารือ เพื่อหาข้อสรุปที่ยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่าย มีการตีความในสัญญาแตกต่างกัน

บริษัทฯ และที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทฯ เห็นว่า สัญญาดังกล่าวไม่สามารถยกเลิกได้ เนื่องจากเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยในสัญญาระบุให้บริษัทฯ ต้องสร้างโรงกลั่นขึ้นมารองรับ เพื่อแปรรูปวัตถุดิบคอนเดนเสทเรสซิดิว ซึ่งเป็นสเปกวัตถุดิบที่รับมาจาก ปตท. เท่านั้น โดยไม่สามารถนำวัตถุดิบมาขายต่อในสภาพเดิมที่รับมาได้

ดังนั้น ในสัญญาจึงมีการระบุว่าเป็นสัญญาลักษณะ Evergreen Basis คือ ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด สัญญาจะต่อโดยอัตโนมัติเมื่อครบกำหนด 15 ปีแรก อีกทั้ง การยกเลิกสัญญาจะกระทำได้เมื่อได้รับความยินยอมจากทั้ง 2 ฝ่าย หรือในกรณี ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำผิดสัญญา ซึ่งบริษัทฯ ไม่เคยดำเนินการใดๆ ผิดจากข้อสัญญาที่กำหนดไว้ จึงมั่นใจว่าสัญญาดังกล่าวไม่สามารถยกเลิกได้ ในขณะที่ทางปตท. เห็นต่างออกไป

ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทฯ มีความมั่นใจว่า เงื่อนไข และเจตนารมณ์ของสัญญาระบุไว้ อย่างชัดเจนว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนระยะยาวที่ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด (Evergreen Basis) เมื่อบริษัทฯ มิได้ต้องการเลิกสัญญา และไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาแต่อย่างใด การบอกเลิกสัญญาจึง"ม่มีเหตุผลอันควร ไม่เป็นธรรม เป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต และจงใจให้บริษัทฯ เสียหาย ดังนั้น เพื่อรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้นให้ได้รับการรับรอง และคุ้มครองตามกฎหมาย บริษัทฯจึงได้ใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ