ตลท.เผย Q3/52 ภาพรวม บจ.กว่า 80% มีกำไรสุทธิเป็นบวก

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 3, 2009 14:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สายงานพัฒนาและวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) รายงาน SET Note Corporate Update พบว่า ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (ไม่รวมบริษัทที่เข้าข่ายเพิกถอนกิจการ และกองทุนอสังหาริมทรัพย์) ในไตรมาส 3/52 ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีกำไรสุทธิรวม 113.19 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.07% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/52 กำไรสุทธิรวมของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ปรับลดลง 10.38% โดยเป็นผลจากกำไรสุทธิของกลุ่มทรัพยากรลดลง 29.51% เนื่องจากค่าการกลั่นและกำไรในสินค้าคงคลังลดลง รวมถึงการตั้งสำรองค่าเสียหายในแหล่งน้ำมันของบางบริษัท

ทั้งนี้ หากไม่รวมกำไรสุทธิของกลุ่มทรัพยากรจะทำให้กำไรสุทธิรวมของ บจ.ปรับเพิ่มขึ้น 5.26% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/52

นอกจากนี้ มีจำนวนบริษัทที่มีผลกำไรสุทธิเป็นบวกถึง 350 บริษัท จากทั้งหมด 436 บริษัท ซึ่งคิดเป็น 80.28% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/52 ที่ 75.23% โดยมีบริษัทที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/52 ถึง 268 บริษัท ซึ่งสะท้อนได้ว่าบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานดีขึ้น

เมื่อพิจารณารายกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่าทั้ง 8 กลุ่มอุตสาหกรรมมีผลกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน โดยมี 4 กลุ่มที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/52 คือ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มอุตสาหกรรมการบริการ ทั้งนี้ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้าง มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบกับไตรมาส เดียวกันของปีก่อน และไตรมาส 2/52 คือเพิ่มขึ้น 46.07% และ 16.23% ตามลำดับ

ด้านประสิทธิภาพการดำเนินงาน (ไม่รวมบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มที่เข้าข่ายเพิกถอนกิจการ และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์) ในไตรมาส 3/52 อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity:ROE) ปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3.31% เทียบกับ 2.47% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และลดลงเทียบกับ 3.82% ในไตรมาส 2/52 อย่างไรก็ตาม หากไม่รวม บจ.ในกลุ่มทรัพยากร พบว่า ROE ดีขึ้นเมื่อเทียบกับทั้งไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาส 2/52

เมื่อพิจารณาโครงสร้างเงินทุน พบว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt/Equity Ratio) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 1.18 เท่า อย่างไรก็ตาม เป็นระดับที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับช่วงเศรษฐกิจปกติ (ปี 47—51) ที่มีระดับหนี้สินต่อทุนเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.02-1.28 เท่า ขณะที่ด้านสภาพคล่องพบว่าดีขึ้นโดยมีกระแสเงินสดจ่ายสุทธิ 6.65 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 2/52 และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีกระแสเงินสดรับจากกิจกรรมการดำเนินงาน (Net Cash Flow From Operating) เพิ่มขึ้น

ภาพรวมด้านการลงทุน (ไม่รวมบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มที่เข้าข่ายเพิกถอนกิจการ และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์) พบว่ามีบริษัทที่ลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์ถาวร 343 บริษัท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/51 และ 2/52 ซึ่งสะท้อนได้ว่าบริษัทส่วนใหญ่สนใจลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์ถาวร ทั้งนี้ มีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 93.48 พันล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์ถาวรสูงสุดคือ กลุ่มทรัพยากร ซึ่งคิดเป็น 62.08% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด

ภาพรวมด้านการระดมทุน (ไม่รวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายเพิกถอนกิจการ) ในไตรมาส 3/52 มีมูลค่าระดมทุนรวม 7,230 ล้านบาท โดยเป็นการระดมทุนในตลาดแรกมูลค่ารวม 4,279 ล้านบาท จาก บจ.เข้าใหม่ 5 บริษัท คือ บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA), บมจ.สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) (SMT), บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL), บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ (SENA) และ บมจ.เซาท์เทิร์นสตีล(S2) ขณะที่มีการระดมทุนในตลาดรองมูลค่า 2,951 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนของ บมจ.ปตท. (PTT)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ