แหล่งข่าวจากตลาดหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า ควรมีการกำหนดการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ชัดเจนไม่ควรให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแบบชั่วคราว เนื่องจากอาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันเพราะผู้ประกอบการไม่สามารถที่จะกำหนดแผนธุรกิจได้ชัดเจน
อนึ่ง การให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กำลังจะครบกำหนดภายในสิ้นปี 52 และในปี 53 บริษัทจดทะเบียนทั้งในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และ MAI 0tต้องกลับมาใช้อัตราภาษีนิติบุคคลปกติที่ 30% จากเดิมที่ได้รับยกเว้นโดยให้เสียในอัตรา 25%ใน SET และ 20% ใน MAI
นอกจากนี้ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษียังเป็นการทำให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในตลาดและนอกตลาดซึ่งการจัดเก็บการจัดเก็บภาษี จะเป็นตัววัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย
เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยจัดเก็บภาษีที่อัตรา 30% เท่ากับประเทศฟิลิปปินส์และบรูไน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพการแข่งขันใกล้เคียงกันล้วนแล้วแต่จัดเก็บภาษีในอัตราที่น้อยกว่า เช่น ประเทศเวียดนาม เก็บภาษีในอัตรา 25% มาเลเซีย จัดเก็บ 25% อินโดนีเซีย 28% และสิงคโปร์เก็บสูงสุดไม่เกิน 18% ส่วนประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีที่สูงสุดคือประเทศลาว จัดเก็บในอัตรา 35%
"ดังนั้น การลดภาษีนิติบุคคลจะทำให้เราสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้และยังเป็นการทำให้ศักยภาพประเทศดีขึ้นด้วย ซึ่งที่ผ่านมาตลาดก็ได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังในเรื่องภาษี ฯ ว่าจะทำอย่างไรเพราะใกล้จะครบกำหนดในสิ้นปีนี้แล้ว นอกจากนี้ในการหารือยังได้หยิบยกเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ในส่วนของ BOI เข้ามาพิจารณาด้วย เพื่อให้ความสมดุลย์ในระบบ"แหล่งข่าวกล่าว
ที่ผ่านมารัฐบาลจะมีการพิจารณาปรับลดภาษีให้กับบริษัทจดทะเบียนเป็นการชั่วคราวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยหลังการปรับลดภาษีทำให้มีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนใน MAI ยังเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลที่จะสามารถเรียกเก็บภาษีได้มากขึ้นด้วย เพราะจากข้อมูลในปี 2549 มีบริษัทที่เข้าจดทะเบียนใน MAI จำนวน 49บริษัท รัฐบาลสามารถเรียกเก็บภาษีได้ 1.62 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเข้าจดทะเบียนของบริษัทจำนวนดังกล่าวรัฐบาลเก็บภาษีได้เฉลี่ย 239 ล้านบาทเท่านั้น