นายชายน้อย เผื่อนโกสุม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น(PTTAR)กล่าวว่า ขณะนี้ทางกลุ่ม ปตท.อยู่ระหว่างจัดทำหนังสือเพื่อขอความชัดเจนไปยังศาลปกครองเพื่อให้พิจารณาว่าโครงการใดของกลุ่ม ปตท.จะสามารถเดินหน้าได้ โดยเฉพาะโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งที่ 6 ที่ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการได้แล้ว แต่จะต้องขอคำชี้แจงจากศาลฯ ว่าจะสามารถดำเนินการต่อไปได้หรือต้องชะลอออกไป
ขณะนี้ทาง ปตท.ยังคงเดินหน้าก่อสร้างโรงแยกก๊าซแห่งที่ 6 ซึ่งตามแผนเดิมจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.53 และจะขอใบอนุญาตเพื่อเปิดเดินเครื่องในเดือน เม.ย.-พ.ค.53
ด้านน.พ. วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวว่า หากโรงแยกก๊าซแห่งที่ 6 ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 1 ล้านตัน/ปี ต้องชะลอออกไป สิ่งที่กระทรวงพลังงานกังวล คือ จะทำให้มีการนำเข้าก๊าซ LPG มากขึ้นในปี 53 และหากราคา LPG ปรับตัวสูงขึ้น ก็จะทำให้รัฐต้องมีภาระชดเชยเงินให้กับกลุ่ม ปตท.มากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ประเมินความต้องการใช้ก๊าซ LPG ของประเทศ คาดว่าประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซ LPG เดือนละ 100,000 ตัน ขณะที่คลังก๊าซ LPG ที่เขาบ่อยา จ.ชลบุรี มีขีดความสามารถในการรองรับการนำเข้าก๊าซ LPG ได้เพียงเดือนละ 88,000 ตัน นอกจากนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องรับภาระชดเชยการนำเข้าก๊าซ LPG สูงถึง 16,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนฯ ในที่สุด
รมว.พลังงาน ยังกล่าวถึงผลจากการระงับโครงการด้านพลังงานส่งผลต่อการจ้างงานโดยตรง 12,000 คน และทางอ้อมอีกกว่า 36,000 คน ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณานโยบายในการบรรเทาผลกระทบนี้
อีกทั้งการระงับโครงการทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีปลายน้ำไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากขาดวัตถุดิบในการผลิตและบางรายต้องนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ตลอดจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา ซึ่งภาครัฐจะต้องพิจารณามาตรการสนับสนุน เช่น การอำนวยความสะดวกการจัดหาวัตถุดิบ และการเจรจาผ่อนปรนแหล่งเงินกู้ เป็นต้น
นอกจากนี้ การที่โรงแยกก๊าซแห่งที่ 6 ถูกระงับการดำเนินการ ส่งผลให้ไม่สามารถรับก๊าซธรรมชาติเข้าสู่กระบวนการ ซึ่งจะกระทบต่อค่า take or pay ประมาณ 5,900 ล้านบาทในปี 53
สำหรับมาตรการรองรับและแนวทางการแก้ไขบรรเทาปัญหานั้น รมว.พลังงาน กล่าวว่า เร่งให้โครงการที่ถูกระงับดำเนินการ เมื่อภาครัฐกำหนดกระบวนการและระยะเวลาการดำเนินการตามมาตรา 67 ชัดเจนแล้ว กระทรวงพลังงานจะร่วมกับภาคเอกชนเร่งดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนยื่นคำขอต่อศาลให้มีคำสั่งแก้ไขหรือยกเลิกวิธีการชั่วคราวในแต่ละราย
ส่วนการแก้ปัญหาการขาดแคลนก๊าซ LPG นั้น ทางกระทรวงจะพิจารณา 4 มาตรการที่สำคัญ คือ สนับสนุนการนำเข้าก๊าซ LPG ให้มากกว่า 100,000 ตัน/เดือน โดยจัดทำคลังลอยน้ำในทะเล(Floating Storage)เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจัดหา LPG, ขอให้เอกชนพิจารณาโอกาสการเลื่อนการปิดซ่อมบำรุงโรงแยกก๊าซบางแห่ง, ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการชดเชยการใช้ LPG โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการบริหารจัดการการใช้ก๊าซ LPG ในประเทศ กำหนดวิธีการบริหารจัดการโดยภาครัฐสร้างแรงจูงใจให้รถแท็กซี่ เปลี่ยนไปใช้ก๊าซธรรมชาติ(NGV)เป็นต้น