ก.ล.ต.ปรับหลักเกณฑ์ออก DW-ตั้งกองทุนรวมให้คล่องตัวขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 16, 2009 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับตลาดทุน เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์(derivative warrants:DW)เพื่อให้มีความคล่องตัวและมีความเหมาะสมกับลักษณะของตราสารและสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น

ในการออก DW ประเภทที่ไม่มีทรัพย์สินเป็นประกัน(non-collateralised)จะให้ความสำคัญกับเรื่องฐานะความมั่นคงของผู้ออก DW จึงกำหนดให้ผู้ออกต้องเป็นบริษัทหลักทรัพย์หรือธนาคารพาณิชย์ที่สามารถบริหารความเสี่ยง มีฐานะมั่นคง และมีระบบการควบคุมและการปฏิบัติงานที่ดี โดยการเสนอขายให้ใช้วิธี direct listing คือ ผู้ออกจะนำ DW เข้าจดทะเบียนและทยอยเสนอขายในตลาดหลักทรัพย์ได้โดยไม่ต้องเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปก่อน เพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาในช่วงระหว่างวันจองซื้อถึงวันที่สามารถซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์

ส่วนผู้ยื่นคำขอออก DW ประเภทที่มีทรัพย์สินอ้างอิงเป็นประกันบางส่วน (partially-collateralized) จะต้องมีคุณสมบัติของผู้ออกเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้สำหรับผู้ออก DW ประเภทที่ไม่มีทรัพย์สินเป็นประกัน และต้องโอนหลักทรัพย์อ้างอิงให้กับทรัสตี เว้นแต่จะได้รับผ่อนผันจาก ก.ล.ต.

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้กำหนดประเภทตัวแปรอ้างอิงที่มีสภาพคล่องและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เช่น หุ้นหรือกลุ่มหุ้นที่อยู่ใน SET50 หน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟในกลุ่มหุ้นที่อยู่ใน SET50 และดัชนีหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงตามที่กำหนด โดย ก.ล.ต.อาจกำหนดประเภทตัวแปรอ้างอิงเพิ่มเติมได้อีก นอกจากนี้ ผู้ออกยังสามารถออก DW ที่ให้สิทธิในการขาย(put)ได้ด้วย จากเดิมที่ออกได้เฉพาะ DW ที่ให้สิทธิในการซื้อ(call)เท่านั้น

พร้อมทั้งได้ออกหลักเกณฑ์ให้บริษัทจัดการสามารถจัดตั้งกองทุนรวมโดยได้รับอนุมัติจาก ก.ล.ต. แบบอัตโนมัติได้ สำหรับกองทุนรวมที่มีลักษณะไม่ซับซ้อน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการพิจารณาคำขอจัดตั้งกองทุนรวมทั่วไปที่ไม่มีความซับซ้อน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทจัดการในการวางแผนการเสนอขายหน่วยลงทุน และวางแผนการลงทุนได้สะดวกขึ้น

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ลงทุน จึงกำหนดให้บริษัทจัดการกองทุนต้องมีมาตรการเยียวยาให้แก่ผู้ลงทุนกรณีที่บริษัทจัดการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุน แต่หากตกลงกันไม่ได้ให้นำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ