ก.ล.ต.วางแผนงานปี 53 เน้นนโยบาย 5 ด้านสอดคล้องแผนพัฒนาตลาดทุนไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 22, 2009 16:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ในปี 2553 ก.ล.ต.กำหนดแผนงานไว้ 5 ด้าน คือ การเชื่อมโยงกับต่างประเทศ, การเปิดเสรีการแข่งขัน, การผลักดันและสนับสนุนนวัตกรรม, การปรับปรุงการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมาย และ การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชน

สำหรับการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ในวงอาเซียนและนอกวงอาเซียน โดยในวงอาเซียน จะมีเรื่อง ASEAN asset class ซึ่งตัวอย่างที่ได้มีภาคเอกชนดำเนินการแล้ว เช่น ASEAN ETFs และ ASEAN scale credit rating และการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการสู่การเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน ได้แก่ เริ่มนำ ASEAN disclosure standard ของหุ้นและตราสารหนี้มาใช้เพื่อความสะดวกในการเสนอขายหลักทรัพย์ข้ามประเทศโดยไม่ต้องทำหนังสือชี้ชวนหลายชุด

โครงการ ASEAN Common Exchange Gateway&ASEAN Board ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียนเพื่อความสะดวกของผู้ลงทุนจากทั่วโลกให้สามารถเข้าถึงได้จากจุดเดียว (single point of entry) โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในไตรมาสแรกของปี 2554 และการร่วมกับตลาดหลักทรัพย์และ ก.ล.ต. ในอาเซียนจัดทำ ASEAN listing standard โดยคาดว่าตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียนจะเริ่มใช้ได้ภายในปี 2554-2555

สำหรับนอกวงอาเซียน เป็นเรื่องการเปิดให้ลงทุนในต่างประเทศ และการเปิดให้สินค้าต่างประเทศมาขายในประเทศไทยได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในรูปแบบต่างๆ เช่น foreign listing และ foreign ETF เป็นต้น โดยระยะแรกผ่านตัวกลางในประเทศ และต่อมาอาจให้บริษัทหลักทรัพย์ในต่างประเทศสามารถให้บริการข้ามประเทศได้สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน

นายธีระชัย กล่าวว่า เรื่องการเปิดเสรีการแข่งขัน มีการเดินหน้าเสนอแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์เพื่อยกเลิกการผูกขาดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) และเปิดให้มีคู่แข่งอื่นได้เพื่อให้เกิดการแข่งขันกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ยกเลิกการจำกัดสิทธิการซื้อขายไว้เฉพาะบริษัทหลักทรัพย์ไทย และแปรสภาพตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งเปิดเสรีใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยมาตรการขจัดการผูกขาดที่กล่าวมาได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาตลาดทุนไทยแล้ว

เรื่องการผลักดันและสนับสนุนนวัตกรรม สินค้าใหม่ที่ได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาตลาดทุนไทยและ ก.ล.ต. มีแผนจะผลักดันให้เกิดในปี 53 ได้แก่ infrastructure fund, sukuk, interest rate futures, venture capital, gold Exchange Traded Fund โดยจะคำนึงถึงระดับความรู้ความเข้าใจของผู้ลงทุนประกอบด้วยเพื่อรักษาระดับการคุ้มครองผู้ลงทุนไว้อย่างเหมาะสม

เรื่องของการปรับปรุงการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมาย เน้นความสำคัญของการมีระบบติดตามที่ทันการณ์ สร้างความมั่นคงของบริษัทหลักทรัพย์และมีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยจะมีการปรับกฎเกณฑ์ เช่น การดำรงเงินกองทุน การบริหารความเสี่ยง และการควบคุมภายใน ให้เพียงพอรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติ กำหนดให้การเปิดเผยข้อมูลสำหรับผู้ลงทุนจะต้องเพียงพอและง่ายต่อการทำความเข้าใจ มีการแบ่งระดับความเสี่ยงของลูกค้าและประเภทสินค้าตามระดับความซับซ้อนและความเสี่ยง โดยผู้ขายจะต้องเช็คสอบระดับความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้ เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับส่งเสริมให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนเพื่อให้เข้าใจความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง

เลขาธิการ ก.ล.ต.จะผลักดันกฎหมายการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action) เพื่อเพิ่มสิทธิผู้ลงทุนโดยไม่จำเป็นต้องฟ้องร้องเอง รวมทั้งจะผลักดันมาตรการทางแพ่ง เพื่อให้สามารถดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว นอกจากนี้ จะเพิ่มบทบาทสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยให้เป็นที่พึ่งของผู้ลงทุนมากขึ้น โดยปรับปรุงบทบาทในการรับมอบอำนาจจากผู้ถือหุ้นเพื่อใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นตัวแทนของผู้ลงทุนรายย่อยใช้สิทธิเรียกร้องทางกฎหมายเมื่อเกิดข้อพิพาทและความเสียหาย เป็นต้น

นอกจากนี้ ส่งเสริมให้ภาคเอกชนและผู้ประกอบวิชาชีพเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลตนเองมากขึ้นโดยเน้นมาตรฐานจรรยาบรรณและการมีบทลงโทษ ในส่วนของการกำกับดูแล จะเน้นกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจแบบ outcome focused เพื่อให้มีความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ ลดความเสี่ยงจากการใช้ดุลพินิจ โดย ก.ล.ต.ได้จัดตั้ง“โครงการบริหารการเปลี่ยนแปลง"ขึ้นเพื่อปฏิรูปกฎเกณฑ์และวิธีปฏิบัติให้รองรับแนวทางกำกับดูแลข้างต้น เช่น โครงการปฏิรูปขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติการออกเสนอขายตราสารทุนและการปฏิรูปแนวทางการคุ้มครองผู้ลงทุนให้เน้นการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น (more disclosure based) เป็นต้น

และเรื่องการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชน โดยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดทุนให้แก่ประชาชนตามแผนการให้ความรู้ผู้ลงทุนที่จัดทำขึ้นอย่างเป็นระบบและเหมาะสมกับผู้ลงทุนแต่ละกลุ่มอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เน้นการรักษาสิทธิผู้ลงทุนและสร้างความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงในการลงทุนแบบต่างๆ และส่งเสริมบุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์ เช่น นักวางแผนการลงทุน และที่ปรึกษาการลงทุน ให้มีโอกาสศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่องและสร้างให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อเป็นตัวเชื่อมให้เกิดการลงทุนอย่างมีคุณภาพ

นายธีระชัย กล่าวถึงผลการดำเนินงานในปี 52 ว่า ในปีที่ผ่านมางานใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ กำกับดูแลและส่งเสริมบรรษัทภิบาล สนับสนุนนวัตกรรมและเพิ่มความคล่องตัวธุรกิจ สร้างศักยภาพการแข่งขัน และส่งเสริมการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ มีผลคืบหน้าตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ