บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น(FORTH) มีแผนขยายธุรกิจในปี 53 ทั้งธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ที่ต่อยอดธุรกิจเดิม เพื่อช่วยสร้างรายได้เข้ามามากขึ้น ประกอบกับ เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นและงบไทยเข้มแข็งช่วยเพิ่มปริมาณงานเข้ามาด้วย ทำให้บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ในปีหน้าเติบโต 15-20% จากที่น่าจะทำได้ 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้
นายอรินทร์ แจ่มนารี ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน FORTH เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ภายใต้มูลค่าการเข้ารับงานในปีหน้าที่มีค่อนข้างมากและสถานการณ์ที่ดีขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง น่าจะส่งผลต่อความสามารถในการสร้างรายได้ในปี 53 ปรับเพิ่มขึ้น โดยบริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 15-20% จากปีนี้ที่คาดว่าจะทำรายได้ 1 หมื่นล้านบาทสูงกว่าปี 51
บริษัทอยู่ระหว่างการวางแผนงานธุรกิจใหม่ โดยจะเป็นงานให้บริการทีวีดาวเทียมผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (IPTV)เนื่องจากมองว่าตลาดมีอัตราการเติบโต ขณะที่เทคโนโลยีไฟเบอร์ออพติคก็มีความแพร่หลาย รวมทั้งยังเป็นช่องทางต่อยอดธุรกืจเพื่อเพิ่มรายได้ในอนาคต เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกับงานวางระบบที่ทำอยู่
แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทยังต้องพิจารณารูปแบบในการดำเนินธุรกิจว่าจะเป็นการรับงานวางระบบหรือให้บริการในรูปแบบอื่น คาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงครึ่งแรกของปี 53 พร้อมกันนั้น บริษัทก็ยังพิจารณางานด้านโทรคมนาคมอยู่ด้วย
ขณะเดียวกัน ในส่วนธุรกิจเดิมก็ยังให้ความสำคัญและผลักดันการขยายธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจตู้เติมเงินโทรศัพท์มือถือที่เริ่มนำออกมาติดตั้งในช่วงกลางปี 52 จะมีการขยายตลาดให้กว้างขึ้น และคาดว่าจะติดตั้งให้ครบ 2 หมื่นเครื่องในปี 53 จากที่ติดตั้งไปแล้ว 1.5 พันเครื่องในปีนี้
ส่วนงานด้านไอทีก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากทั้งจากการขยายบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่มีอัตราการขยายตัว โดยในส่วนงานด้านบรอดแบนด์บริษัทคาดว่าจะได้รับงานของ บมจ.ทีโอที ประมาณ 1-1.2 พันล้านบาท จากมูลค่างานทั้งหมด 3 พันล้านบาท ซึ่งคาดจะรู้ผลการประมูลงานในช่วงต้นปีหน้า
นอกจากนี้ยังมีงานติดตั้งกล้อง CCTV ในพื้นที่ กทม.ที่เข้ามาต่อเนื่องจากปี 52 ที่มียอดรับรู้รายได้จากงานติดตั้ง CCTV ประมาณ 400-500 ล้านบาท และยังมาจากงบไทยเข้มแข็งที่เข้าไปประมูลเพิ่ม ซึ่งบริษัทคาดว่าจะได้รับงานรวมประมาณ 1 พันล้านบาทในช่วงไตรมาส 1/53-ไตรมาส 2/53
"เชื่อว่าในปี 53 จะเป็นปีของบริษัท เพราะมีงานใหญ่รออยู่หลายงานทั้งของ CAT และ TOT เข้าประมูลไปแล้วในปีนี้ รอผลประมูลและส่งมอบในปีหน้า และงานของ กทม.ก็จะมีเป็น backlog ปีหน้าหลายตัว ขณะที่ความต้องการด้านไอทีที่เพิ่มมากขึ้น และงานอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่ทยอยเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และยังมีการเปิดให้บริการ 3G ในประเทศไทยจะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างยอดขายอุปกรณ์ให้กับบริษัท ภาครัฐเองก็ใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกมาก ซึ่งคาดว่าจะมีการขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอีก"นายอรินทร์ กล่าว
นายอรินทร์ กล่าวถึงงานรับจ้างผลิตแผงวงจรอิเล็คทรอนิกส์ว่า ในปีหน้ายังมีคำสั่งซื้อต่อเนื่องจากทางบริษัทเวสเทิร์น ดิจิตอล คอร์ปอเรชั่น(WD) ซึ่งเป็นลูกค้าหลัก และยังมีลูกค้ารายใหม่อื่น ๆ อีกถึงแม้ปริมาณในการสั่งซื้อจะไม่มากเมื่อเทียบ WD ที่ในปี 53 มีคำสั่งซื้อเฉลี่ย 2.6 ล้านชิ้น/เดือน หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 600-700 ล้านบาท/เดือน สูงกว่าปีก่อนที่เฉลี่ยอยู่ที่ 1.5-1.8 ล้านชิ้น/เดือน
"แม้รับจ้างผลิตจะมีมาร์จิ้นน้อยไม่ถึง 5% เมื่อเทียบกับมาร์จิ้นงานภายใต้แบรนด์ FORTH ที่จะสูงประมาณ 30% แต่บริษัทคงจะไม่มีการปรับเปลี่ยนเพราะจะทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง โดยปัจจุบัน 70-80% จะเป็นการรับจ้างผลิต และที่เหลือจะเป็นการผลิตภายใต้แบรนด์บริษัท"นายอรินทร์ กล่าว