นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย)(KEST) เปิดเผยว่า บริษัทฯ แต่งตั้งนางบุญพร บริบูรณ์ส่งศิลป์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดูแลสายงานธุรกิจหลักทรัพย์รายย่อย ซึ่งจะรับผิดชอบบริหารจัดการงานด้านการตลาดและการพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์รายย่อย เพื่อเตรียมรองรับธุรกิจใน 53 ซึ่งจะเริ่มใช้มาตรการเสรีค่าคอมมิชชั่น
อย่างไรก็ตาม การเน้นคุณภาพงานวิจัยยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญมาโดยตลอด
ในส่วนธุรกิจใหม่ที่บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในต้นปีหน้า ได้แก่ ธุรกิจจัดการกองทุนรวม และตราสารอนุพันธ์ต่างๆ เป็นต้น เพื่อเสริมการบริการของบริษัทฯ ให้ครบวงจรมากขึ้น
ด้านนางบุญพร กล่าวว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายในการครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในอุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนปัจจุบันบริษัทฯ มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ประมาณ 10.68% ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 8.18% เพิ่มขึ้น 31% โดยบริษัทฯ ขยายงานมากขึ้น จะเห็นได้จากการเปิดสาขาเพิ่ม ซึ่งในปีนี้บริษัทฯ เปิดสาขาใหม่ 1 แห่ง ได้แก่สาขายูไนเต็ด บนถนนสีลม
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีสาขาทั้งหมด 42 สาขา เป็นสาขาในกรุงเทพฯ 24 แห่ง(ไม่รวมสำนักงานใหญ่) และสาขาต่างจังหวัด 17 แห่ง
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีเป้าหมายที่จะขยายฐานลูกค้าเพิ่มโดยเน้นลูกค้าชาวต่างชาติที่สนใจการลงทุนให้มากขึ้น โดยจัดทำบทวิเคราะห์ภาษาจีน และทีมเจ้าหน้าที่การตลาดเพื่อรองรับฐานลูกค้าชาวจีนโดยเฉพาะ โดยธุรกิจของบริษัทฯ จะเน้นลูกค้ารายย่อยเป็นหลัก
ทั้งนี้ สัดส่วนลูกค้ารายย่อยของบริษัทฯ อยู่ที่ 85-90% นอกนั้นเป็นลูกค้าสถาบัน 10-15% ซึ่งบริษัทฯ จะขยายฐานลูกค้าสถาบันมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็มุ่งขยายฐานลูกค้ารายย่อยมากขึ้นอีกด้วย โดยเพิ่มศักยภาพทางด้านโปรแกรม KE Trade ให้สามารถรองรับการซื้อขายหลักทรัพย์และอนุพันธ์ในโปรแกรมเดียวกัน และเพิ่มขีดความสามารถระบบการซื้อขายให้สามารถรองรับปริมาณการซื้อขายต่อวันให้มากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีลูกค้าอยู่ประมาณ 64,000 กว่าราย เป็นลูกค้าที่มีการซื้อขายสม่ำเสมอประมาณ 36,000 กว่าราย
ในส่วนการขยายตัวของบริการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ต มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยส่วนแบ่งการตลาดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 13.38% คิดเป็นขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 9.58% บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตให้เป็น 16%