บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ. เอ็ม บี เค (MBK) ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงการมีศูนย์การค้าใจกลางเมืองที่มีชื่อเสียงด้วยปริมาณการสัญจรของลูกค้าจำนวนมาก การมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากธุรกิจให้เช่าพื้นที่ค้าปลีกซึ่งขึ้นอยู่กับสัญญาการเช่า ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับธนาคารธนชาต ตลอดจนความยืดหยุ่นด้านการเงินที่ดีจากการลงทุนในหลักทรัพย์เผื่อขายจำนวนมาก และความสามารถในการระดมทุนโดยการให้เช่าพื้นที่หรือเซ้งศูนย์การค้าระยะยาว
อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากค่าเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าที่บริษัทจะต้องจ่ายในอนาคตซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากหลังจากสัญญาปัจจุบันหมดอายุในปี 2556 และแผนการขยายธุรกิจซึ่งต้องใช้เวลาและความพยายามเพื่อให้ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ นอกจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศแล้ว นโยบายขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องในกิจการที่มิใช่ธุรกิจหลักของบริษัทซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากยังเป็นประเด็นกังวลเพิ่มด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนจากศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ และแม้ว่าบริษัทจะมีรายจ่ายฝ่ายทุนที่ค่อนข้างสูงมากตามแผนการขยายกิจการในระหว่างปี 2553-2554 แต่ก็คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่ระดับปัจจุบันเอาไว้ได้ในระยะปานกลาง โดยอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากโครงการลงทุนเป็นไปตามการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง
MBK ก่อตั้งในปี 2517 โดย ณ เดือนพฤศจิกายน 2552 บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) และบริษัทในเครือเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทด้วยสัดส่วนการถือหุ้นรวมกันจำนวน 20% บริษัทบริหารจัดการ “ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์" ซึ่งเป็นศูนย์การค้าที่มีชื่อเสียงใจกลางกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังดำเนินธุรกิจโรงแรม สนามกอล์ฟ พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย และโรงสีข้าวด้วย แม้จะดำเนินธุรกิจที่หลากหลายแต่ผลประกอบการของบริษัทยังคงพึ่งพาศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ เป็นหลัก
ทั้งนี้ ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ และโรงแรมปทุมวันปริ๊นเซสถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความสำคัญของบริษัท ซึ่งมีทำเลอยู่บนที่ดินเช่าใจกลางกรุงเทพฯ โดยในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้ประมาณ 40% และกระแสเงินสดประมาณ 75% ให้แก่บริษัท เพื่อลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของรายได้ บริษัทได้ขยายการลงทุนในธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกเพิ่มขึ้น โดยลงทุนในบริษัทร่วมทุนกับ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ในสัดส่วน 50% ขณะนี้บริษัทร่วมทุนดังกล่าวกำลังปรับปรุงตกแต่งพื้นที่ให้เช่าของ “พาราไดซ์พาร์ค" (เปลี่ยนชื่อจาก “เสรีเซ็นเตอร์") ที่มีพื้นที่ทั้งหมด 150,000 ตารางเมตร หลังจากที่ซื้อมาเมื่อปี 2551 โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบภายในกลางปี 2553
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนในการพัฒนาศูนย์การค้าชุมชน (Community Mall) ของบริษัทเองเป็นแห่งแรกที่ถนนพระราม 9 ภายในปี 2553 ด้วย การลงทุนดังกล่าวซึ่งควบคู่ไปกับการขยายธุรกิจโรงแรม สนามกอล์ฟ และโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยจะต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ดังนั้น ในไตรมาส 3 ของปี 2552 บริษัทจึงได้จัดเตรียมเงินสำหรับการขยายธุรกิจด้วยการให้เช่าพื้นที่ค้าปลีกจำนวนไม่เกิน 20% ของพื้นที่ทั้งหมดของศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ โดยเป็นการให้เช่าระยะยาว (10 ปี) ซึ่งสามารถสร้างกระแสเงินสดได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท โดยเงินส่วนนี้จะช่วยลดภาระการกู้ยืมของบริษัทได้ภายในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า
ในช่วงที่ผ่านมา แม้จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไปอยู่บ้าง แต่บริษัทเอ็ม บี เค ก็ยังมีผลประกอบการในระดับที่ยอมรับได้ โดยบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จนอยู่ที่ระดับ 5,800 ล้านบาทในช่วง 2 ปีบัญชีล่าสุด และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 2% ในไตรมาสแรกของปีบัญชี 2552/2553 ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงจาก 39% ในปีบัญชี 2550/2551 เป็น 36% ในปีบัญชี 2551/2552 และ 33% ในไตรมาสแรกของปีบัญชี 2552/2553
เงินทุนจากการดำเนินงานคงอยู่ที่ระดับ 1,700-1,800 ล้านบาทในช่วง 3 ปีบัญชีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 2,720 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปีบัญชี 2552/2553 ซึ่งเป็นผลมาจากการให้เช่าพื้นที่ระยะยาวในศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ในช่วงปลายปี 2552 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมซึ่งลดลงจาก 27% ในรอบปีบัญชี 2550/2551 เหลือ 22.5% ในรอบปีบัญชี 2551/2552 นั้นปรับตัวดีขึ้นเป็น 34.8% (ยังไม่ได้ปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในไตรมาสแรกของปีบัญชี 2552/2553
แม้ว่าระดับของหนี้สินจะเพิ่มขึ้นจาก 6,524 ล้านบาทเมื่อปลายเดือน มิ.ย.2551 เป็นประมาณ 7,800 ล้านบาทในเดือน มิ.ย.และก.ย.52 แต่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนยังคงอยู่ที่ระดับ 37%-39% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยชะลอตัวมาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจค้าปลีก
ทั้งนี้ ดัชนีค้าปลีกลดลงอย่างต่อเนื่องจากปลายปี 2551 ถึงปลายปี 2552 ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็ยังค่อนข้างต่ำแม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 76.5 ในเดือน พ.ย.2552 จากจุดต่ำสุดเมื่อเดือน พ.ค.2552 ที่ 71.5 ก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยดัชนีที่ต่ำสะท้อนถึงความไม่มั่นใจของผู้บริโภคในการใช้จ่ายภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว ปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยเหล่านี้เป็นสิ่งจำกัดความสามารถในการขึ้นราคาค่าเช่าหรือกระตุ้นอัตราการเช่าของผู้ค้าปลีกที่ทำสัญญากับผู้เช่า
ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มแสดงสัญญาณการฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2552 หลังจากที่มีผลประกอบการตกต่ำในปีที่ผ่านมาจากผลกระทบของการปิดสนามบินและความวุ่นวายทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการเต็มปีของอุตสาหกรรมในปี 2552 คาดว่าจะอ่อนตัวลงจากปีที่แล้ว ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมจะต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษาผลประกอบการไม่ให้ลดต่ำลงในช่วงที่อุตสาหกรรมชะลอตัว