โบรกฯหนุน"ซื้อ"KTB มองปี 53รับอานิสงส์"ไทยเข้มแข็งเต็มที่ดันสินเชื่อโต

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 29, 2009 10:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ ส่วนใหญ่แนะ"ซื้อ"หุ้นธนาคารกรุงไทย(KTB)คาดสินเชื่อปีหน้าจะขยายตัว 6-7% รับประโยชน์จากโครงการไทยเข้มแข็ง และการกระตุ้นเบิกจ่ายของภาครัฐ โดดเด่นกว่าธนาคารขนาดใหญ่อื่น รวมทั้งมีอัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าด้วย ราวกว่า 4% อย่างไรก็ตาม ปัญหาในมาบตาพุดทำให้กังวลว่าเงินที่ปล่อยกู้ในโครงการพื้นทีมาบตาพุดมีความเสี่ยง ประมาณ 3 พันล้านบาท ที่ธนาคารมีโอกาสต้องตั้งสำรอง จึงเป็นปัจจัยกดดันระยะสั้น

          โบรกเกอร์        คำแนะนำ       ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น)
          บล.กรุงศรีอยุธยา   เก็งกำไร         12.00
          บล.เคจีไอ         ซื้อ             11.80
          บล.ฟิลลิป          ซื้อ             11.80
          บล.เอเซียพลัส      ซื้อ             11.70
          บล.กสิกรไทย       ซื้อ             11.70
          บล.เกียรตินาคิน     ถือ              9.60

บทวิเคราะห์ของ บล.เคจีไอ ระบุว่า ในปี 53 KTB มีเป้าอย่างไม่เป็นทางการที่คาดว่าสินเชื่อจะขยายตัว 7.0% (เทียบกับประมาณการของเราที่ 6.0%) จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการฟื้นตัวของสินเชื่อภาคเอกชน หลังมาตรการไทยเข้มแข็ง (SP2) เริ่มหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี เป้าดังกล่าวยังไม่ได้รวมถึงปัญหาจากการชะลอตัวของสินเชื่อบรรษัทที่เกิดขึ้นจากปัญหาการชะลอโครงการลงทุนในมาบตาพุด จากแนวโน้มที่การพื้นตัวของสินเชื่อบรรษัทอาจชะลอตัว KTB ก็จะหันไปมุ่งเน้นในตลาด SMEs เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่กู้ยืมไปเพื่อก่อสร้างในโครงการไทยเข้มแข็ง น่าสังเกตว่าการช่วยเหลือให้การรับประกันเงินกู้จากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย)ช่วย KTB ให้ปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้นในตลาดดังกล่าว

ทั้งนี้ เราคาดว่าสินเชื่อจะขยายตัวที่ 6% ในปี 2553 ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการของ KTB อยู่เล็กน้อย

ส่วนเรื่องปัญหาที่มาบตาพุด สินเชื่อคงค้างของ KTB ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แต่ส่วนที่ธนาคารฯมีความกังวลเล็กน้อยว่าอาจมีปัญหา NPL จะมีเพียง 3 พันล้านบาท แต่ก็เป็นส่วนที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันครอบคลุมอยู่แล้ว ปัจจุบัน ธนาคารฯยังไม่ได้คิดว่าสินเชื่อดังกล่าวจะกลายเป็น NPL และธนาคารฯ ไม่มีจำเป็นต้องจัดชั้นคุณภาพหนี้เป็น NPL ในขณะนี้ ในภาพรวมแล้วในไตรมาส 4/52 เราเชื่อว่าค่าใช้จ่ายสำรองอาจต่ำกว่าประมาณการเดิมของเราที่ 5 พันล้านบาท

ด้าน น.ส.สิริณัฎฐา เตะชศิริวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย มองว่า รายได้จากค่าธรรมเนียมของ KTB โตมากเกินกว่า 25% ในปี 52 โดย 9 เดือนที่ผ่านมามีอัตราเติบโต 28-29% และคาดว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมในปี 53 จะเติบโตต่อเนื่อง และสินเชื่อปี 53 เติบโต 7% จากนโยบายของรัฐบาลในปีหน้าที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ มองว่าน่าจะเป็นบวกมากกว่าแบงก์อื่น เพราะ KTB มีรัฐถืออยู่ 55% รวมทั้ง KTB ได้เข้าไปทำระบบเบิกจ่ายงบประมาณด้วย

ขณะที่ KTB ยังมีค่าใช้จ่ายสำหรับการตั้งสำรองที่ยังสูงอยู่ในปีหน้า ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับ 3 ปีที่ผ่านมา แต่มองในอีก 2 ปีข้างหน้า การตั้งสำรองจะลดลงมาก

ส่วนกรณีมาบตาพุด มองว่าจำนวนเงินที่ธนาคารปล่อยกู้ใกล้เคียงกับธนาคารอื่น และเชื่อว่าไม่น่าจะกระทบกับธนาคาร เพราะส่วนใหญ่โครงการในมาบตาพุดเป็นโครงการที่ปล่อยกู้ร่วมกับธนาคารอื่น ฉะนั้น ยอดปล่อยเงินกู้ของธนาคารขนาดใหญ่จะใกล้เคียงกัน

"ลงทนวันนี้ OK เพราะในแง่ valuation แบงก์ KTB มี divided yield สูงกว่าแบงก์อื่นที่เป็นแบงก์ขนาดใหญ่ด้วยกัน โดยมี divided yield ประมาณ 4%กว่า แบงก์อื่นประมาณ 3%"น.ส.สิริณัฏฐา กล่าว

นอกจากนี้ การเติบโตของ KTB ในปีหน้า หลักๆ มาจากมาตรการรกะตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ได้แก่ โครงการไทยเข้มแข็ง

นายธนัท รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กรุงศรีอยุธยา แนะ"เก็งกำไร"เพราะมองว่า ประเด็นการปล่อยกู้กับโรงงานในมาบตาพุด จำนวนรวม 3 หมื่นล้านบาท แต่ยังเป็นประเด็นเสี่ยง โดยจำนวนที่ปล่อยกู้ 3 พันล้านบาทมีโอกาสเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)

"ประเด็นที่แบงก์ไม่ได้พูดถึง เงิน 3 พันล้านบาทมองว่าเสี่ยงเข้าข่ายเป็นหนี้เสีย ตรงนี้ผมมองว่าถ้าตรงนี้ยังไม่เคลียร์ ก็ยังคิดว่ายังมีความเสี่ยง ให้เล่นเก็งกำไรแต่ก็ยังมีเชิงมุมบวก"

โดยมองว่า สินเชื่อในปีหน้าจะเติบโตประมาณ 6% จากปีนี้ที่คาดว่าจะโต 2.8% และ NIM ขยับขึ้นเป็น 3.2-3.3% ภาพรวมปีหน้าของ KTB ยังดี เพียงแต่ว่า ประเด็นมาบตาพุดยังมีความเสี่ยง และธนาคารก็ยังไม่ตั้งสำรอง โดยหากโครงการมาบตาพุดเลื่อนออกไปก็ย่อมกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ แม้ว่าจะไม่กระทบต่อฐานะ และเป็นเรื่องระยะสั้นๆ แต่หากมีข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ราคาก็จะได้รับผลกระทบ

เราปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 52 ขึ้น 15.6% เป็น 1.22 หมื่นล้านบาท(-1%YoY)จากการปรับลดค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯลง 19% เหลือ 7.7 พันล้านบาท นอกจากนี้ เราปรับลดประมาณการค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ปี 53 ลง 24% เหลือ 8.4 พันล้านบาท (ไม่รวมสำรองหนี้ฯจากปัญหามาบตาพุต) เราปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 53 เพิ่มขึ้น 24.4% เป็น 1.49 หมื่นล้านบาท (+22.3%YoY)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ