โบรกฯ มองธุรกิจหลักทรัพย์ปีเสือแข่งดุ! เปิดเกมรุกรับค่าคอมฯขั้นบันได

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 30, 2009 14:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ คาคธุรกิจหลักทรัพย์ปีหน้าแข่งขันดุเดือดรับการนับหนึ่งเปิดเสรีธุรกิจโบรกเกอร์จากการเริ่มใช้ค่าคอมมิชชั่นแบบขั้นบันไดที่จะมีผล 1 ม.ค.ซึ่งจะกระทบกับรายได้ค่านายหน้า โดยเห็นเค้าลางความเข้มข้นของการช่วงชิงลูกค้าจากการเปิดตัวโปรโมชั่นค่าคอมฯ 0% ของโบรกเกอร์ใหญ่อย่างน้อย 2 ราย โบรกฯเล็กอยู่ลำบากต้องหาช่องควบรวมกิจการ

อัตราค่าคอมมิชชั่นแบบขั้นบันไดที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ต้นปี 53 กำหนดให้มูลค่าการซื้อขายไม่เกิน 5 ล้านบาท/วัน คิดอัตรา >0.25-1%, เกิน 5 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท คิดอัตรา >0.22-1%, เกิน 10 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 20 ล้านบาท คิดอัตรา >0.18-1% และ ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท เป็นอัตราที่ตกลงกัน แต่ไม่เกินกว่า 1%

นายกวี ชูกิจเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า แนวโน้มธุรกิจหลักทรัพย์ในปีหน้าน่าจะมีการแข่งขันรุนแรง จากประเด็นการนำค่าคอมมิชชั่นแบบขั้นบันไดมาเริ่มใช้ ทำให้เชื่อว่ารายได้และกำไรของโบรกเกอร์คงจะลดลง โดยเฉพาะโบรกเกอร์ที่พึ่งพานักลงทุนในประเทศเป็นหลักจะเข้าขั้นอยู่ลำบาก ดังนั้น โบรกเกอร์ขนาดเล็ก ๆ จะต้องมีการปรับตัว และอาจจะเกิดการควบรวมกิจการกันเพื่อลดต้นทุน

อย่างไรก็ดี ประเด็นของการควบรวมกิจการคงจะไม่เห็นเร็วนัก แต่ก็คงจะทยอยเห็นอยู่เรื่อย ๆ ส่วนโบรกเกอร์ที่มีพาร์ทเนอร์ดีๆ จะได้เปรียบ นอกจากนี้ ทุกโบรกเกอร์ก็คงต้องหันไปหารายได้จากทางอื่นเข้ามาเสริมด้วย

"มีเรื่องของค่าคอมฯขั้นบันได รายได้ของโบรกเกอร์คงลดลง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาจะทดแทนรายได้ที่ลดลง ก็ต้องเป็นวอลุ่มที่เพิ่มขึ้น แต่วอลุ่มจะไปหวังว่าตลาดหุ้นจะมีวอลุ่มเพิ่มขึ้นด้วยตัวมันเอง คงจะน้อย เนื่องจากนักลงทุนก็มีอยู่แค่นี้ โดยเฉพาะนักลงทุนในประเทศก็มีอยู่เท่านี้ เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ได้เยอะเกินไป"นายกวี กล่าว

นายกวี กล่าวว่า โบรกเกอร์ที่พึ่งพานักลงทุนในประเทศเป็นหลัก ไม่มีลูกค้าต่างประเทศ ก็จะเหนื่อยหน่อย เพราะมีข้อจำกัด โบรกเกอร์ที่มีลูกค้านักลงทุนต่างประเทศหรือบางทีก็มี Fund Flow เข้ามาก็ได้วอลุ่มเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นโบรกเกอร์รายเล็กจะมีความสามารถการแข่งขันน้อย ก็ต้องมีการผลักตัวเอง เพราะหากจะพึ่งแค่วอลุ่มก็เหนื่อย อาจจะต้องมีการควบรวมกิจการ เพื่อที่จะลดต้นทุนและเป็นการเพิ่มวอลุ่มไปในตัวด้วย

"เราจะเห็นภาพเริ่มต้นของปีก็คือการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นก่อน แล้วถึงจุด ๆ หนึ่งโบรกเกอร์ที่แข่งไม่ไหวจริง ๆ ก็เริ่มจะมีการควบรวม ส่วนโบรกฯที่มีพาร์ทเนอร์ทั้งต่างประเทศและในประเทศที่ดี ๆ จะได้เปรียบ และอาจเป็นแกนนำในการควบรวมที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าได้ ซึ่งคงไม่เห็นเร็ว แต่คงจะเห็นเรื่อย ๆ"นายกวี กล่าว

ส่วนวอลุ่มเทรดของตลาดหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันในปีหน้า คาดว่าจะมีวอลุ่ม 18,000-19,000 บาท/วัน จากในปี 52 คาดว่าจะอยู่ประมาณ 18,000 ล้านบาท/วัน

นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส(FSS)กล่าวว่า ในปีหน้าเมื่อธุรกิจหลักทรัพย์ใช้อัตราค่าคอมมิชชั่นแบบขั้นบันได แต่ละโบรกฯ คงจะต้องกลับไปดูฐานลูกค้าว่าเป็นอย่างไรบ้าง โบรกฯไหนที่มีลูกค้ารายใหญ่มาก หรือมีการเทรดต่อรายเกิน 20 ล้านบาทก็เข้าเกณฑ์สามารถต่อรองค่าคอมฯอย่างเสรี ซึ่งก็จะกระทบกับรายได้ เรียกได้ว่าแต่ละคนจะต้องกลับมาดูส่วนผสม-สัดส่วนของลูกค้าของตนเองก่อน

"ปีหน้าจะมีการนำค่าคอมมิชชั่นแบบขั้นบันไดมาใช้ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นก่อนที่จะมีการเปิดเสรี ดังนั้น จึงเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลักทรัพย์อย่างแน่นอน เพราะคนเทรด 20 ล้านบาทจะคิดค่าคอมฯเฉลี่ยประมาณ 0.2% เมื่อมีการต่อรองกันได้อย่างเสรี ก็คาดว่าจะทำให้รายได้ของโบรกฯกระทบประมาณ 20% แต่สำหรับงคนที่เทรดต่ำกว่า 20 ล้านบาท โบรกฯก็ยังจะได้รับค่าคอมฯเต็มจำนวนอยู่"นายสมภพ กล่าว

กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ขณะนี้โบรกเกอร์บางรายที่มีการจัดให้โปรโมชั่นค่าคอมฯ 0% มองว่าเป็นเพียงแค่การใช้กลยุทธ์ในการหาลูกค้า และตีกรอบระยะเวลาของโปรโมชั่นไว้ระยะหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่คิด 0% ตลอดไป

"ทำธุรกิจ"ฟรี"ก็จะอยู่ไม่ได้หรอก อาจจะเป็นแค่บางช่วงเวลาเท่านั้น แล้วแต่ใครจะใช้กลยุทธ์อะไรออกมา ส่วน ฟินันเซีย ไซรัส ก็มีลูกค้าที่เทรดเกิน 20 ล้านบาท อยู่เหมือนกัน แต่ก็มีไม่มาก ยังมีน้อยอยู่"กรรมการผู้จัดการ FSS กล่าว

นายสมภพ กล่าวต่อว่า ธุรกิจหลักทรัพย์เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก เพราะมีปัจจัยจากภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้เข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี หวังว่าปี 53 เศรษฐกิจจะดี และการเมืองเริ่มนิ่ง ก็อาจจะทำให้วอลุ่มเทรดของตลาดฯเพิ่มขึ้นมาได้ในระดับ 50,000-60,000 ล้านบาท/วัน ก็เป็นไปได้ เพราะขนาดช่วงภาวะเศรษฐกิจไม่ดีบางครั้งตลาดบ้านเรายังมีการเทรดถึง 20,000 กว่าล้านบาท/วัน


แท็ก ปีเสือ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ