บมจ.ลานนารีซอร์สเซส(LANNA)หยุดทำสัญญาขายถ่านหินล่วงหน้าระยะยาว รอขาย spot รับแนวโน้มถ่านหินขาขึ้น ขณะที่กำลังการผลิตถ่านหินปีนี้พุ่งแตะ 4 ล้านตันรับผลผลิตจากเหมืองแห่ง 3 เข้ามาเต็มปี คาดปีนี้รายได้-กำไรธุรกิจถ่านหินทำได้ดีเทียบเท่าปีก่อน เดินหน้าซื้อเหมืองใหม่ตั้งเป้าภายใน 2-3 ปีต้องมีเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 1 เหมือง ด้านธุรกิจเอทานอลเจอปัญหาต้นทุนโมลาสทะยานกว่าเท่าตัว ทำกำไรหดแน่ โรงงานแห่ง 2 เปิดปลายปีตามแผนเปลี่ยนใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ
นายอนันต์ เล้าหเรณู กรรมการ LANNA กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทจะเน้นขายในราคา spot เนื่องจากประเมินว่าราคาถ่านหินในปีนี้อยู่ในขาขึ้น จากปัจจุบันราคาขายอยู่ในระดับ 50 เหรียญฯ/ตัน ส่วนที่มีโบรกเกอร์มองว่าราคาเฉลี่ยอาจจะปรับขึ้นไปถึง 80 เหรียญฯ/ตันนั้น อาจจะมากกว่าก็ได้ เพราะอย่างปีก่อนหน้ายังขึ้นไปกว่า 100 เหรียญฯ/ตัน
ขณะที่ปีนี้คาดว่ากำลังผลิตถ่านหินจะอยู่ในระดับ 4 ล้านตัน มาจาก 2 เหมือง คือ เหมืองที่ 1 จำนวน 1.5 ล้านตัน และเหมืองที่ 3 (SGP)อีก 2-2.5 ล้านตัน ซึ่งกำลังผลิตเต็มที่ของเหมืองที่ 1 อาจจะขึ้นไปถึง 2 ล้านตัน แต่เราไม่ได้เร่งผลิต เนื่องจากราคาปัจจุบันยังต่ำ การผลิตจึงอยู่ในลักษณะทำสต็อกไปเรื่อยๆ และบริษัทพร้อมที่จะขายตามกำลังการผลิต
“ถ้าขายได้ราคาดีก็ขาย ไม่ได้เร่งเพราะเราจะไม่ขายของในราคาที่คิดว่าระดับราคายังต่ำอยู่ นโยบายตอนนี้ไม่ขายล่วงหน้าไปยาว ๆ พยายามขายแบบสปอร์ตเพราะถ่านปัจจุบันยังอยู่ระดับต่ำและแนวโน้มคิดว่าจะขึ้น"นายอนันต์ กล่าว
แม้ว่าในปี 52 ปริมาณการผลิตของเหมืองแห่งที่ 3 ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นจะมีเพียง 4 แสนตัน ทำให้ปริมาณขายรวมทั้งปีต่ำกว่าปี 51 ประมาณ 1 ล้านตัน (โบรกฯคาดว่าปีนี้มีปริมาณการผลิต 1.7 ล้านตัน)เนื่องจากได้ยกเลิกการผลิตเหมืองแห่งที่ 2 ไป แต่ในแง่ของกำไรจะสูงกว่าปี 51 เพราะแค่ 9 เดือนปี 52 กำไรก็สูงกว่าทั้งปี 51 แล้ว เนื่องจากราคาถ่านหินอยู่ในระดับสูง
LANNA รายงานว่า ไตรมาส 3/52 มีกำไรสุทธิ 310.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 111.94% จากไตรมาส 3/51 เนื่องจากกำไรจากธุรกิจถ่านหิน 232.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 268.01%
นายอนันต์ กล่าวว่า ถ้าเทียบกับในอดีตกำไรปี 52 ก็น่าจะก้าวกระโดด และคาดว่ากำไรอาจจะสูงที่สุดในรอบ 25 ปี เพราะ 3 ไตรมาส กำไรดีสุดโต่งไปแล้ว เหลือไตรมาส 4/52 ก็คิดว่ากำไรน่าจะใกล้เคียงกับงวดเดียวกันปีก่อน
ส่วนผลประกอบการในปี 53 ยังต้องขึ้นกับทิศทางราคาถ่านหินเป็นหลัก เพราะในด้านเอทานอลกำไรไม่น่าจะดีกว่าปี 52 เพราะเจอกับปัญหาวัตถุดิบโมลาสขาดแคลนและต้นทุนสูง
"ราคาถ่านหินขายใหม่ก็ต้องราคาปัจจุบัน ในแง่ผลประกอบการปีนี้ ถ้าคิดว่ายอดขายได้เท่ากันกำไรเท่ากัน ต้องหายเอทานอลไปเกือบ 150 ล้านบาทแน่เพราะราคาโมลาสแพงขึ้น"นายอนันต์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม คาดว่ากำไรจากการขายถ่านหินในปีนี้น่าจะสูงขึ้นไปอีก เพราะรับรู้รายได้จากเหมืองแห่งที่ 3 เต็มปี และถ้าจากนี้ขายในราคา spot ก็เชื่อว่ากำไรน่าจะออกมาสูงกว่าปี 52 โดยบริษัทคาดว่าราคาขายถ่านหินเฉลี่ยน่าจะสูงกว่าราคาตลาด เพราะการขายล่วงหน้าถ่านหินจากเหมือง 3 จำนวน 1 ล้านตันนั้น ได้กำหนดราคาขายไปแล้ว ประมาณ 4 แสนตันที่ราคา 70 เหรียญฯ/ตัน ส่วนที่เหลือจะมีการกำหนดราคาตามราคาตลาด ซึ่งถ่านหินจากแหล่งใหม่มีคุณภาพดีก็น่าจะได้ราคาดีด้วย
ขณะที่ถ่านหินจากเหมืองแห่งที่ 1 คุณภาพก็จะค่อยๆ ถดถอยลงไป เพราะผลิตและขายมาหลายปีแล้วเป็นไปตามลักษณะธรรมชาติของเหมือง
“เรามียอดขายล่วงหน้าอยู่ประมาณ 1 ล้านตัน สำหรับเหมืองที่ 3 อย่างน้อยมี 70 เหรียญฯแล้ว ยังเหลือขายปีนี้อีก 6 แสนตัน ส่วนราคาใหม่จะเป็นยังไม่รู้แต่ก็ต้องอิงกับราคาปัจจุบัน โดยลูกค้าที่ซื้อล่วงหน้าไป 1 รายเป็น core อินเตอร์เนชั่นแนลที่เป็นผู้จัดจำหน่ายให้เรา"นายอนันต์ กล่าว
*วางแผนลงทุน 5 ปีหลักพันลบ.,ตั้งเป้า 2-3 ปีต้องมีเหมืองแห่งใหม่
นายอนันต์ กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างวางแผน 5 ปี(ปี 53-57)คาดว่าจะกำหนดงบลงทุนในหลักพันล้านบาท และบริษัทยังอยู่ระหว่างหาเหมืองแห่งใหม่ ตั้งเป้าหมายภายใน 2-3 ปีนี้ก็ต้องเพิ่มอย่างน้อยอีก 1 เหมือง ซึ่งเหมืองแห่งหนึ่งตั้งแต่เจรจาจนถึงการสร้างรายได้ต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี
และนอกจากเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียแล้ว ก็ยังมองไปที่ประเทศอื่นด้วย แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ต้นทุนว่าจะคุ้มหรือไม่คุ้ม ค่อยๆขยับออกไป แต่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย โดยแนวโน้มจะใช้วิธีร่วมทุนกับพันธมิตร เพราะการยื่นขอสัมปทานเองคงเป็นไปไม่ได้และยิ่งราคาถ่านหินแพงเหมืองที่จะซื้อก็แพงกว่าเก่าแน่นอน
"ตอนนี้เรามี 2 เหมืองมารองรับแล้ว มีปริมาณถ่านหินสำรองประมาณ 40 ล้านตัน ถ้าเราขาย 2 ล้านตันต่อปี ก็ยังเหลืออีกตั้ง 20 ปี แต่คงไม่รอถึง 20 ปี ถ้าเป็นอย่างวัฎจักรช่วงที่ผ่านมา อีก 5 ปีถึงจะจำเป็นต้องมีเหมืองอีกแห่งเข้ามาเสริม" นายอนันต์ กล่าว
ก่อนหน้านี้ บทวิเคราะห์ บล.ยูไนเต็ดระบุว่าความคืบหน้าแผนซื้อเหมืองถ่านหินใหม่ของ LANNA ที่มีปริมาณสำรอง 50 ล้านตัน ใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 200 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดจะได้ข้อสรุปช่วงกลางปี 53 หากการเจรจาสำเร็จถือเป็นข่าวดีต่อบริษัท
*เอทานอลเจอปัญหาวัตถุดิบทำกำไรหด รอโรง 2 ขึ้นปลายปี
นายอนันต์ กล่าวว่า ธุรกิจเอทานอลปี 53 กำไรคงลดลงจากปีนี้ เพราะวัตถุดิบกากน้ำตาลราคาถูกหมดไปแล้วในปี 52 ช่วงจังหวะนี้มีแนวโน้มว่าผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลกมีแนวโน้มตึงตัวและราคาอยู่ในช่วงขาขึ้น ส่งผลให้กากน้ำตาลราคาสูงไปด้วย ขณะนี้ซื้อแพงกว่าเดิมจากกว่า 1900 บาท/ตัน โดดขึ้นมาเป็นกว่า 5,000 บาท/ตัน ทำให้กำไรแย่ลงไป แต่คงไม่ถึงขั้นขาดทุนฉุดกำไรทางถ่านหิน แต่อาจจะไม่ได้ช่วยสนับสนุนเหมือนปีที่ผ่านมาที่มีกำไรร่วม 200 ล้านบาทจากธุรกิจเอทานอล
บริษัทยังคงเดินหน้าโครงการโรงงานเอทานอลแห่งที่ 2 ที่มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปลายปี 53 หรือต้นปี 54 ขณะนี้เซ็นสัญญาซื้อเครื่องจักรไปแล้ว ซึ่งจะทำให้บริษัทมีผลผลิตเอทานอลจากโรงงานแห่งที่ 2 เข้ามารองรับในไตรมาส 1/54 ซึ่งจะใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ และใช้งบลงทุน 1,500 ล้านบาท
"เอทานอลโรงใหม่ต้องการให้ผลิตได้ไตรมาส 1/54 ถ้าได้ก็จะเพิ่มอีก 2 แสนลิตร/วัน โรงปัจจุบัน 1.5 แสนลิตร/วัน (ใช้กากน้ำตาลซึ่งแพงขึ้น) ถ้าโรงงานใหม่เปิด กำไรก็น่าจะดี เพราะจะมาช่วยแก้ปัญหาวัตถุดิบ เพราะมันสำปะหลังต้นทุนถูกกว่าการใช้กากน้ำตาล กากน้ำตาลวิ่งขึ้นมา 5,000 บาท/ตัน มันสำปะหลังวิ่งขึ้นก็ยังวิ่งน้อยจาก 1.70 บาท/ก.ก. ตอนนี้ 2.20 บาท/ก.ก.และราคาขายคงไม่แตกต่างเพียงแต่ใครบริหารต้นทุนให้ถูกได้ก็จะดี"นายอนันต์ กล่าว
*คาดนำไทยอะโกรฯเข้าตลาดไตรมาส 3/53
นายอนันต์ กล่าวว่า สำหรับการนำ บมจ.ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่(TAE)เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น คาดว่าได้รับอนุมัติต้นไตรมาส 1/53 และถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็จะเข้าเทรดในไตรมาส 3/53 แต่ตอนนี้เรื่องกำไรชะลอไปเนื่องจากโรง 2 ยังไม่แล้วเสร็จและเจอวัตถุดิบกากน้ำตาลแพง หากเสนอขยหุ้น IPO ตอนนี้อาจจะได้ราคาไม่ดี
“ถ้าราคาดีเราขายแน่ แต่แนวโน้มมีความเป็นไปได้ว่าราคาจะไม่ดี เพราะปีนี้เราติดปัญหาเรื่องกากน้ำตาล กำไรจะหายไปเยอะ"นายอนันต์ กล่าว