โบรกเกอร์ เห็นพ้องแนะ“ซื้อ"หุ้น บมจ.สยามแม็คโคร(MAKRO)จากปัจจัยบวกภาวะเงินเฟ้อเร่งตัว เศรษฐกิจฟื้น ความเชื่อมั่นกลับคืนมา และงบไทยเข้มแข็ง ช่วยสนับสนุนหนุนให้ผู้บริโภคใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เห็นได้จากดัชนีค้าปลีกปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 52 น่าจะมีโอกาสเห็นผลกำไรโตโดดเด่นในไตรมาส 4/52 ประกอบกับ มีแผนเปิดสาขาใหม่ต่อเนื่องในปีนี้อีก 2-3 สาขาส่งผลดีโดยตรงต่อผลประกอบการ
ขณะที่ร่างกฎหมายค้าปลีกฯ ฉบับใหม่ยังต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะมีผลบังคับใช้ แต่จากกฎเกณฑ์ที่กำหนดในเบื้องยังไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อกิจการของ MAKRO มากนัก
ทั้งนี้ คาดการณ์ผลประกอบการ MAKRO ในปี 53 น่าจะมียอดขายในช่วง 8.2-8.3 หมื่นล้านบาท สูงขึ้นจากปี 52 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิปีนี้เพิ่มเป็น 1.59-1.66 พันล้านบาท จากปีก่อนทำได้ประมาณ 1.4 พันล้านบาท และยังคาดว่าจะมีการจ่ายปันผลอีก 2.6 บาท/หุ้น จากงวด 9 เดือนปี 52 จ่ายไปแล้วรวม 3 บาท/หุ้น
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น) สถาบันวิจัยนครหลวงไทย ซื้อ 100 บล.เคจีไอ ซื้อ 90(กำลังปรับเพิ่ม) บล.ฟิลลิป ซื้อลงทุน 100
นางสาวอังคณา ตั้งวิกรมไกร นักวิเคราะห์ บล.เคจีไอ แนะนำ“ซื้อ"หุ้น MAKRO โดยอยู่ระหว่างการทบทวนปัจจัยเพื่อปรับเพิ่มราคาเหมาะสมเดิมที่ 90 บาท เนื่องจากมองปัจจัยบวกที่ MAKRO กำลังขยายสาขาเพิ่มอีก 2-3 แห่งในปีนี้ และการที่อัตราเงินเฟ้อที่ค่อยๆปรับเพิ่มสูงขึ้นยังส่งผลดีต่อธุรกิจค้าปลีกด้วย
นอกจากนี้ MAKRO ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง โดยให้ยึดร่างของกระทรวงพาณิชย์เป็นหลัก โดยขั้นตอนยังอยู่ระหว่างการส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาคาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน และส่งเรื่องกลับมายัง ครม.อีกครั้งก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของสภาฯ โดยร่างนี้จะครอบคลุมค้าปลีกขนาดใหญ่และร้านสะดวกซื้อ แต่จะไม่รวมตลาดสด
ตามความเห็นของเรารายละเอียดของร่างกฎหมายฉบับล่าสุดนี้ยังคงคลุมเครืออยู่ ถ้ายึดตามร่างฯที่ครม.รับหลักการนี้ HMPRO และ MAKRO (ร้านประเภท Eco Plus ขายอาหารสด) จะไม่ได้รับผลกระทบ ยังคงแนะนำ"ซื้อ"
ขณะที่บทวิเคราะห์ สถาบันวิจัยนครหลวงไทย แนะ“ซื้อ"เมื่อราคาอ่อนตัวใน หุ้น MAKRO โดยราคาเหมาะสมที่ 100 บาท จากการที่บริโภคของประชาชนในประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นและความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นด้วย ซึ่งมูลค่าค้าปลีกของประเทศไทยในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 52 ฟื้นตัวจากเดือน ต.ค.52 ประกอบกับเป็นช่วง High Season ของธุรกิจ
และยังเป็นผลมาจากปัจจัยบวกอื่นหลายประการที่จะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของประชาชน อาทิ 1) อัตราการว่างงานในเดือน พ.ย.52 ที่ลดลงเหลือ 1.07% ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือน ม.ค.51 เป็นต้นมา 2) ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน พ.ย.52 ยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ย.51 เป็นต้นมา และยังคงมีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างอย่างต่อเนื่องในปี 53 และสุดท้ายปัจจัยบวกจากโครงการไทยเข้มแข็งช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน
ทั้งนี้ SCRI ประเมินว่าผลการดำเนินงานงวด Q4/52 ของ MAKRO จะเป็นจุดสูงสุดของปีเนื่องจากประเมินว่าธุรกิจค้าปลีก—ค้าส่งของไทยพ้นจุดต่ำสุดในงวด Q2/52 ไปแล้ว จากการพิจารณาดัชนีค้าปลีกที่เริ่มปรับตัวขึ้น หลังจากลดลงสู่จุดต่ำสุดในเดือน เม.ย.52 และยังมีปัจจัยบวก เช่น ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ฟื้นตัว / อานิสงค์จากโครงการไทยเข้มแข็ง ที่จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน
ดังนั้น SCRI จึงยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 52 ของ MAKRO ไว้ที่ 1,445 ล้านบาท และปี 53 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 1,662 ล้านบาท จากรายได้ปี 52 ที่ 7.71 หมื่นล้านบาท และปี 53 คาดว่ารายได้จะอยู่ที่ 8.31 หมื่นล้านบาท ยังมี Upside 14% มูลค่าเหมาะสม 100 บาท
อย่างไรก็ตาม SCRI คาดว่าผลการดำเนินงานของกลุ่มพาณิชย์ใน Q4/52 จะเติบโตอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะผลประกอบการของ BIGC และ MAKRO ที่อ่อนแอตลอดในช่วง Q1/52—Q3/52 ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มดัชนีค้าปลีกของประเทศไทย ส่วนงวด Q4/52 ผลประกอบการของกลุ่มพาณิชย์มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะ BIGC และ MAKRO
ด้านบทวิเคราะห์จาก บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย)แนะ“ซื้อลงทุน"หุ้น MAKRO โดยให้ราคาเหมาะสมที่ 100 บาทในปี 53 จากการที่รายได้เพิ่มขึ้นจากการเปิดสาขาใหม่ 1 แห่งที่พัทยาในเดือน ธ.ค.52 และจะเปิดอีก 2 แห่งในปี 53 ซึ่งส่งผลบวกต่อยอดขายของ MAKRO คาดว่ากำไรในปี 53 จะเติบโต 14.9% โดยกำไรสุทธิจะอยู่ที่ 1,599 ล้านบาท จากยอดขาย 8.21 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ยังคาดว่าจะมีการจ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะจ่ายอีก 2.60 บาท/หุ้น หลังจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 52 จ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้ว 3 บาท/หุ้น
ด้านผลกระทบจาก พ.ร.บ.ค้าปลีกฯ คาดว่าต้องใช้เวลา 6-12 เดือนในการออกกฎหมายและมีผลบังคับใช้ โดยทางฝ่ายวิเคราะห์มองว่าเกณฑ์ในร่าง พ.ร.บ.ที่ออกมายังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น และต้องมีรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของประเภทร้านค้า ชนิดสินค้า และอื่นๆ อีกที่คณะกรรมการกฤษฎีกาต้องพิจารณาเพิ่มเติมจากขนาดของพื้นที่ร้านค้า รวมถึงต้องพิจารณาว่ากฎเกณฑ์ใดจะออกเป็นกฎหมายหรือออกเป็นกฎกระทรวง หากออกเป็นกฎหมายจะเข้มงวดและผ่อนปรนยากกว่ากฎกระทรวง