นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมกการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ(ครม.เศรษฐกิจ)มอบหมายให้เจรจากับ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL)ผู้รับสัมปทานในโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลหรือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ เพื่อขอปรับแก้สัญญาสัมปทาน เป็นรูปแบบ PPP GROSS COST
การปรับแก้สัญญาดังกล่าว เพื่อให้เหมือนกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่รัฐบาลอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเดิม โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนั้นจะลงทุนแบบ PPP GROSS COST เช่นเดียวกัน
และที่ประชุมมีมติอนุมัติรูปแบบการลงทุนระบบเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ เป็นแบบ PPP GROSS COST คือ ให้เอกชนร่วมลงทุนในส่วนของการเดินรถ ประกอบด้วย ขบวนรถไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ การบริหารจัดการเดินรถ และการบำรุงรักษา โดยที่รัฐจะจ้างเอกชนเดินรถ และจัดเก็บรายได้จากค่าโดยสาร ต่างจากรูปแบบการลงทุนโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล และทำหน้าที่บริหารจัดการเดินรถทั้งหมด รวมทั้งจัดเก็บรายได้จากค่าโดยสาร และจ่ายผลตอบแทนให้ภาครัฐ
"การลงทุนแบบ PPP GROSS COST จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย เอกชนจะไม่มีความเสี่ยงเรื่องการจัดเก็บรายได้จากค่าโดยสาร ขณะที่ภาครัฐจะสามารถกำหนดควบคุมอัตราค่าโดยสารเพื่อจูงใจให้ประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้าได้ และยืนยันว่าการเจรจาดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของเอกชนที่จะลงทุนกับภาครัฐ เพราะหลักการในการเจรจานั้นจะต้องให้เอกชนเห็นชอบด้วย และจะอยู่บนพื้นฐานของกติกา และอายุสัญญาสัมปทานต้องไม่เพิ่มขึ้นจากเดิม 30 ปี" นายโสภณ กล่าว
ขั้นตอนหลังจากนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนตามมาตรา 13 ของพรบ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานและดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ซึ่งคณะกรรมการฯ นี้จะทำหน้าที่ในการกำหนดทีโออาร์ในการคัดเลือกเอกชนเพื่อเข้ามาร่วมทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง คาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ในเดือนม.ค.54 รวมทั้งเจรจากับ BMCL ซึ่งจะต้องพิจารณารายละเอียดในส่วนของผลตอบทน การคืนทุน ต้นทุน และอัตราค่าจ้างเดินรถ
นายโสภณ กล่าวยอมรับว่าปัญหาความมั่นใจของนักลงทุนภาคเอกชน ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะล่าสุดกรณีปัญหาหวยออนไลน์ถือเป็นอุปสรรคที่กระทบต่อความเชื่อมั่นในการร่วมทุนกับภาคเอกชน แต่ในส่วนของกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่าโครงการทุกอย่างจะเป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้กับเอกชน เอกชนสามารถเชื่อมั่นได้ รวมทั้งจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกรณีการปรับแก้สัญญาด้วย
อนึ่ง BMCL ได้รับสัญญาสัมปทานเดินรถไฟฟ้า ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ เป็นเวลา 25 ปี นับตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 47
ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคมเสนอของบประมาณค่าจ้างที่ปรึกษาระบบรถไฟฟ้าวงเงิน 382 ล้านบาทนั้น ไม่ได้เป็นการขอเพิ่มวงเงิน แต่เนื่องจากเดิมไม่ได้ตั้งงบประมาณดังกล่าวไว้ ทำให้ต้องของบประมาณเพื่อนำมาจัดจ้างที่ปรึกษา ซึ่งที่ประชุมครม.เศรษฐกิจ มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและสำนักงบประมาณพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง
นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การลงทุนระบบเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะใช้งบประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเอกชนในประเทศที่มีประสบการณ์เดินรถและสามารถเข้าร่วมลงทุนน่าจะมี 2 บริษัท คือ BMCL และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS
ส่วนระบบรถไฟฟ้าซึ่งเดิมโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินใช้ระบบรถของซีเมนส์นั้น โครงการส่วนต่อขยายไม่จำเป็นต้องใช้ระบบเดิม โดยการพิจารณาคัดเลือกจะขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นสำคัญ