(เพิ่มเติม) KBANK ตั้งเป้าปี 53 สินเชื่อโต 7-9% ภายใต้คาดศก.โต 3.5% เงินเฟ้อ 3-4%

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 7, 2010 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ตั้งเป้าสินเชื่อปี 53 ขยายตัวในระดับ 7-9% ภายใต้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ปีนี้ในระดับ 3.5% และอัตราเงินเฟ้อ 3-4% ขณะที่ปี 52 สินเชื่อยังขยายตัวเป็นบวก

นอกจากนี้ ทางธนาคารพร้อมปรับโครงสร้างหนี้ให้กับกลุ่มบมจ.ปตท.(PTT) และ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) ในโครงการมาบตาพุด แต่ยังไม่ได้มีการเจรจา

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ KBANK กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อของธนาคารปี 53 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขยายตัว 2-4% สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี 8-10% และ สินเชื่อบุคคล-สินเชื่อรายย่อย 15-16%

ธนาคารยังมีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อโครงการพลังงานทางเลือก 3,000-5,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในสินเชื่อดังกล่าวเป็น 30% ซึ่งแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อโครงการดังกล่าวจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นโครงการที่ภาครัฐให้การสนับสนุน โดยวันนี้ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อให้แก่ บริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด จำนวน 1,100 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ระยะเวลาชำระคืนหนี้ประมาณ 5 ปี

และในปี 53 ธนาคารยังรับเป็นที่ปรึกษาโครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือกหลายโครงการ ประกอบด้วย โครงการผลิตไฟฟ้าด้วยลมเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีกำลังการผลิต 50-60 เมกกะวัตต์, โครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 60-70 เมกกะวัตต์, โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของประเทศลาว และ โครงการชีวมวล

กรรมการผู้จัดการ KBANK กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยปี 53 น่าจะฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องจากปี 52 แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภายในและต่างประเทศ ดังนั้น การฟื้นตัวจึงแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยยอมรับว่ามีความเป็นห่วงปัจจัยการเมืองในประเทศที่มีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาล ซึ่งหากการเมืองยังไม่ดีขึ้น อาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และนักธุรกิจ

ส่วนปัจจัยต่างประเทศให้ติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการปรับสูงขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเกิดจากการปรับขึ้นจากพื้นฐาน และการเก็งกำไร ทำให้นักเศรษฐศาสตร์เริ่มตั้งข้อสังเกตและเตือนให้ระวังปรากฎการณ์ฟองสบู่สินค้าโภคภัณฑ์ จึงมีการเรียกร้องให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสกัดเงินเฟ้อจากปัญหาดังกล่าว

"สินค้าบางตัวปรับขึ้นจากปัญหาพื้นฐาน เช่นน้ำตาล หรือยาง แต่สินค้าบางตัว เช่นทองคำ ก็มาจากการเก็งกำไรด้วย เพราะดอกเบี้ยที่ต่ำมาก จึงไม่แปลกที่จะนำเงินลงทุนในตลาดทุนที่ได้ผลตอบแทนไม่ดีนัก ไปลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์ ดังนั้น เมื่อดอลลาร์อ่อนค่า นำเงินไปลงทุนทองคำ เพราะไม่มีดอกเบี้ย"กรรมการผู้จัดการ KBANK กล่าว

ส่วนกรณีที่เจโทรส่งสัญญาณชะลอการลงทุนในประเทศจากปัญหามาบตาพุดนั้น นายประสาร เชื่อว่า คงยังไม่เป็นปัญหา แต่ให้ถือเป็นสัญญาณเตือนของนักลงทุนที่รัฐบาลต้องเร่งหาทางปรับปรุงแก้ไขปัญหาให้เป็นที่เข้าใจโดยเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ