บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ของ บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป(MAJOR) ที่ระดับ“A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย ตลอดจนการมีโรงภาพยนตร์ ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ดี โอกาสในการขยายธุรกิจในต่างจังหวัด และคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ ปริมาณของภาพยนตร์ที่เข้าฉายและความเป็นที่นิยม ตลอดจนระยะเวลาการฉายในโรงที่สั้นลงก่อนที่จะผลิตเป็นวิดีโอซีดี/ดีวีดี การแข่งขันจากกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ และการแพร่ระบาดของวิดีโอซีดี/ดีวีดีที่ละเมิดลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการเมืองที่ตึงเครียดยังส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะผู้นำตลาดในธุรกิจโรงภาพยนตร์และรักษาผลประกอบการให้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ การลงทุนในอนาคตหรือการจ่ายเงินปันผลควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบและจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินและสภาพคล่องอย่างรุนแรง ในกรณีที่อัตราส่วนเงินกู้ที่ได้รับการค้ำประกันต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทริสเรทติ้งอาจปรับลดอันดับเครดิตตราสารหนี้ของบริษัทลงจากระดับปัจจุบัน
ทริสเรทติ้งรายงานว่า MAJOR เป็นผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 80% โดยพิจารณาจากรายได้รวมของภาพยนตร์ที่เข้าฉายในสัปดาห์แรก
MAJOR ก่อตั้งในปี 2537 โดยนายวิชา พูลวรลักษณ์ ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นในสัดส่วน 37% บริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 5 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจโรงภาพยนตร์ บริการโบว์ลิ่งและคาราโอเกะ บริการสื่อและโฆษณา ธุรกิจให้เช่าพื้นที่และบริการ รวมถึงธุรกิจจัดจำหน่ายวิดีโอซีดี/ดีวีดีและลิขสิทธิ์ภาพยนตร์
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 บริษัทให้บริการโรงภาพยนตร์ 46 แห่ง ด้วยจำนวนจอภาพยนตร์ทั้งสิ้น 341 จอ และที่นั่งมากกว่า 84,000 ที่นั่ง แบ่งเป็นโรงภาพยนตร์ 26 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ 20 แห่งในต่างจังหวัด บริษัทมีสาขาโบว์ลิ่งและคาราโอเกะจำนวน 26 สาขา ซึ่งประกอบด้วยโบว์ลิ่ง 468 เลน และห้องคาราโอเกะ 305 ห้อง นอกจากนี้ บริษัทยังบริหารจัดการพื้นที่ให้เช่าขนาด 30,714 ตารางเมตรด้วย
สำหรับในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงนั้น บริษัทขยายโรงภาพยนตร์ไปยังแหล่งศูนย์กลางธุรกิจและชุมชนสำคัญหลายแห่งโดยใช้ตราสัญลักษณ์หลากหลายเพื่อดึงดูดลูกค้าหลายๆ กลุ่ม บริษัทวางแผนในการเพิ่มฐานรายได้โดยการเพิ่มโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยในต่างจังหวัดเพื่อให้ทันกับความนิยมภาพยนตร์ไทยที่เพิ่มมากขึ้นของประชาชนในต่างจังหวัด
ผลประกอบการของ MAJOR ได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวแทนผู้จำหน่ายภาพยนตร์ โดยรายได้จากการเข้าชมภาพยนตร์ขึ้นอยู่กับจำนวนภาพยนตร์ที่เข้าฉาย รวมถึงคุณภาพและความเป็นที่นิยมของภาพยนตร์ด้วย
อย่างไรก็ตาม บริษัทก็เผชิญกับปัจจัยที่เป็นผลกระทบด้านลบหลายประการ ได้แก่ การแพร่ระบาดของวิดีโอซีดี/ดีวีดีละเมิดลิขสิทธิ์ ระยะเวลาที่สั้นลงในการฉายภาพยนตร์ในโรงก่อนที่จะผลิตเป็นวิดีโอซีดี/ดีวีดี และการแข่งขันจากกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ โดยที่ปัจจัยเหล่านี้อาจลดความต้องการชมภาพยนตร์นอกบ้าน แต่ก็ยังไม่มีกิจกรรมสันทนาการใดที่สามารถทดแทนประสบการณ์จากการชมภาพยนตร์ในโรงได้อย่างสมบูรณ์
นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ความวุ่นวายทางการเมือง และการแพร่ระบาดของไข้หวัด A/H1N1 ยังส่งผลกระทบความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของลูกค้าซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจโฆษณา และธุรกิจโบว์ลิ่งและคาราโอเกะของบริษัท
ในปี 2551 บริษัทมีรายได้จำนวน 5,328 ล้านบาท ลดลง 8.2% จากปีที่ผ่านมาเนื่องจากรายได้จากการจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเพราะมีภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมเข้าฉายจำนวนน้อย รวมถึงการเลื่อนกำหนดการฉายภาพยนตร์ที่ลงทุนสูง รายได้ที่มาจากธุรกิจภาพยนตร์คิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดของบริษัท
สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 รายได้รวมของบริษัทลดลงเล็กน้อยในระดับ 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาสู่ระดับ 3,908 ล้านบาทแม้รายได้จากการจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์จะเพิ่มขึ้นถึง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำจึงส่งผลให้รายได้จากการขายโฆษณาและให้บริการโบว์ลิ่งและคาราโอเกะลดลง 44% และ 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาตามลำดับ
อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจาก 34% ในปี 2550 เป็น 38% ในปี 2551 เนื่องจากบริษัทมีอัตราส่วนกำไรที่ดีขึ้นจากธุรกิจให้เช่าพื้นที่และธุรกิจจัดจำหน่ายวิดีโอซีดี/ดีวีดีและลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ อีกทั้งค่าใช้จ่ายด้านการขายและการบริหารก็ลดลง
อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวลดลงสู่ระดับ 35% สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้ รายได้ค่าโฆษณาซึ่งมีอัตราส่วนกำไรสูงที่ลดลงอย่างมาก อัตราส่วนกำไรที่ลดลงในธุรกิจจัดจำหน่ายภาพยนตร์ การส่งเสริมการขายเชิงรุกในธุรกิจโบว์ลิ่งและคาราโอเกะ และค่าใช้จ่ายด้านการขายและบริหารที่เพิ่มสูงขึ้น
หนี้สินรวม (รวมมูลค่าปัจจุบันของค่าเช่า) ของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 6,212 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 6,485 ล้านบาทในปี 2551 และ 7,406 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 เนื่องจากบริษัทกู้เงินระยาวเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ลงทุนและขยายสาขา รวมทั้งยังรวมหนี้จาก บมจ.เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์(MPIC) ด้วย
อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 52.5%ในปี 2550 เป็น 55.2% ในปี 2551 และ 59.4% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทคงอยู่ในระดับที่เกินกว่า 1,200 ล้านบาทต่อในช่วงปี 2549-2551 โดยที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับประมาณ 20%-21% ในช่วงปี 2549-2551 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 4.5 เท่า
สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวน 948 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับ 14% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับ 3.7 เท่าในช่วงเดียวกัน