บมจ. ซุปเปอร์บล๊อก (SUPER) คาดได้รับเงินเพิ่มทุนราว 150 ล้านบาทในช่วงต้นเดือน ก.พ.53 เพื่อนำมาขยายธุรกิจ หลังจากวันนี้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติแผนเพิ่มทุนจำนวน 225 ล้านหุ้น ซึ่งกลุ่มโลจายะซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ ส่วนกลุ่มพันธมิตรทางการค้าที่ถือหุ้นอยู่ก็เชื่อว่าจะช่วยในการเพิ่มทุนครั้งนี้ได้สำเร็จ
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัท มีมติจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน ในอัตราการจองซื้อ 2 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ ในราคาเสนอขายหุ้นละ 0.67 บาท กำหนดชำระเงิน 1-5 ก.พ.53
นายขุมทรัพย์ โลจายะ กรรมการและกรรมการผู้จัดการ SUPER ระบุว่า บริษัทจำเป็นต้องมีรายได้จากธุรกิจอื่น ๆ เข้ามาเสริม เนื่องจากปัจจุบันยังต้องพึ่งรายได้หลักกว่า 90% จากธุรกิจอิฐมวลเบา ซึ่งมีการแข่งขันรุนแรง โดยบริษัทจะเดินหน้าการหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจอื่น ๆ เข้ามาเพิ่มเติม แม้ว่าการเจรจาเข้าลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จ
สำหรับผลประกอบการในปี 53 ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่ยอมรับว่าปี 52 คงยังไม่พ้นภาวะขาดทุนต่อเนื่องจากปีก่อน ๆ และขณะนี้ก็ยังไม่มีแนวทางที่จะล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ราว 500 ล้านบาทไมด้จนกว่าจะมีโครงการใหม่ที่สร้างรายได้เข้ามาเพิ่ม
นายขุมทรัพย์ กล่าวว่า มีความมั่นใจว่าบริษัทจะสามารถขายหุ้นเพิ่มทุนได้หมด โดยกลุ่มโลจายะและครอบครัวถือหุ้นรวมกับประมาณ 40-45% ซึ่งจะใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วน ส่วนพันธมิตรทางการค้าที่ถือหุ้นอยู่กว่า 30% นั้น ทางบริษัทก็จะนำโปรเจ็คต์ใหม่ที่จะสร้างรายได้เข้ามาไปเสนอให้พิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจ
"เราขายที่ราคา 0.67 บาท/หุ้นต่ำกว่าคนที่ซื้อพาร์ 1 บาท คิดว่าราคาเพิ่มทุนสมเหตุสมผล ถูก และมี discount ให้กับผู้ถือหุ้นด้วย แต่หากมีหุ้นเหลือขายก็จะขาย PP แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ได้มี PP รองรับ เพราะตลาดตอนนี้เล่นหุ้นบลูชิพ บริษัทเล็ก ๆ คนไม่ค่อยสนใจ"นายขุมทรัพย์ กล่าว
รายได้หลักของบริษัทในปี 53 นั้นสัดส่วนกว่า 90% ยังมาจากอิฐมวลเบา ซึ่งคงต้องรอให้สภาวะรอบด้านปรับตัวดีขึ้น เพราะตลาดหลักของอิฐมวลเบาคืองานก่อสร้างอาคารสูง หากมีโครงการอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นมากในปีนี้จากที่ล่าช้ามาจากปีก่อนก็เชื่อว่าน่าจะทำให้บริษัทได้รับประโยชน์ ซึ่งขณะนี้ได้เห็นโครงการขนาดใหญ่ระดับ 2-3 พันล้านบาทบ้างแล้ว
อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างก็ต้องใช้เวลาปีครึ่งในการวางรากฐาน ซึ่งน่าจะไปเห็นผลในปีหน้าหรือกลางปีต่อไปสำหรับขั้นตอนที่จะต้องใช้อิฐมวลเบาในการก่อสร้าง ประกอบกับ การแข่งขันที่รุนแรง เพราะมีคู่แข่ง อย่าง CCP, Q-CON เป็นต้น แต่ก็เชื่อว่ายอดขายน่าจะมากกว่าปี 52
"ตอนนี้รายได้มาจากอิฐมวลเบา 90 กว่า% คาดยอดขายปีนี้จะไม่น้อยกว่าปี 52 แต่ก็อยู่ที่บ้านจะกลับมาเท่าไร แต่โดยรวมคิดว่าดีขึ้น แต่ก็ยังแข่งขันรุนแรงควรจะมีธุรกิจอื่นเข้ามาเสริม ไม่ใช้รออุตฯอิฐมวลเบากลับมาอย่างเดียว"นายขุมทรัพย์ กล่าว
ณ 30 ก.ย.52 บริษัทมีขาดทุนสะสม 538 ล้านบาท คงยังไม่สามารถล้างได้หมดจนกว่าจะมีโปรเจ็คต์ใหม่ที่สร้างรายได้เพิ่มเข้า ซึ่งหากเป็นโครงการใหญ่และเป็นการลงทุนถูกทางก็อาจจะสามารถล้างขาดทุนสะสมได้ภายใน 1-2 ปี ขณะที่ปี 52 คาดว่ายังเป็นขาดทุนสุทธิอยู่ และหลังการเพิ่มทุนสำเร็จก็คงยังไม่เห็นกำไรได้เร็วนัก แต่เชื่อว่าจะทำให้บริษัทมีศักยภาพเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกอยู่ที่ 254 ล้านบาท (สิ้นไตรมาส 3/52) หลังเพิ่มทุนถ้าผู้ถือหุ้นใช้สิทธิส่วนของผู้ถือหุ้นก็จะเพิ่มเป็น 300 กว่าล้านบาท
"ยังขาดทุนจากค่าเสื่อมราคาเยอะ บวกกับการแข่งขันที่รุนแรง แต่ปีนี้ก็เชื่อมั่นว่าในการลงทุนถ้ามีโครงการดีๆ มานำเสนอก็น่าจะดีขึ้น"
สำหรับโครงการ My Resort Bangkok ของบริษัท อิควิตี เรสซิเดนเชียลนั้น คณะกรรมการบริษัทมีมติยกเลิกการเข้าซื้อแล้วเนื่องจากการเจรจาตกลงกันไม่ได้ เนื่องจากมีขั้นตอนที่จะต้องยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)พิจารณาด้วยเพราะมีประเด็นในแง่ conflict of interest เพราะโครงการดังกล่าวเป็นของนายสวิจักร์ โลจายะ ถือเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยงโยงกัน รวมทั้งการเข้าลงทุนโครงการมายารีสอร์ท โฮลดิ้ง หัวหิน ก็ยังไม่ตกลงกันไม่ได้เช่นกัน
"หลังการเพิ่มทุนเสร็จแล้วจะมีการพิจารณากันใหม่หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าจะศึกษา 2 โครงการนี้อีกก็ต้องขอก.ล.ต.และต้องผ่าน FA ขั้นตอนยังไม่เรียบร้อยจึงเพิ่มทุนไปก่อน แต่ถ้าจะไปซื้อ My Resort Bangkok ในราคาเดิม(ซื้อที่พาร์) มูลค่า 350 ล้านบาทคงไม่ได้แล้ว เพราะโครงการจะแล้วเสร็จกลางปี 53 นี้ ซึ่งมีมูลค่าการขายถึง 1,800 ล้านบาท"นายขุมทรัพย์ กล่าว
นายขุมทรัพย์ กล่าวว่า บริษัทก็ยังมองหาโครงการอื่นๆ อีกระหว่างที่รอให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวเต็มที่ สาเหตุที่เราขยายธุรกิจอื่นทั้งที่อยู่ในภาวะขาดทุน เพราะธุรกิจอิฐมวลเบามีวงจรธุรกิจเหมือนอุตสาหกรรมเหล็กและยิปซั่ม เมื่อกำลังการผลิตสูงกว่าความต้องการ ก็ต้องใช้เวลาปรับตัว
"การที่เราจะรออุตฯนี้ปรับตัวอยู่และอยู่เฉยๆ ก็เกรงว่าส่วนของผู้ถือหุ้นจะติดลบหรือถูกแขวน หรือถูก delete หรือไม่ จึงหันไปดูธุรกิจอื่นเพื่อเพิ่มศักยภาพ เพื่อรอธุรกิจอิฐมวลเบากลับมาเหมือนเดิม" นายจอมทรัพย์ กล่าว