หุ้นไทยปี 52 ภาพรวมโตขึ้นทั้งดัชนี-มาร์เก็ตแคป วอลุ่ม/วันสุงสุดรอบ 5 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 13, 2010 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เผยภาพรวมของภาวะตลาดหลักทรัพย์ของไทยในปี 52 ปรับดีขึ้นเทียบกับปี 51 ทั้งด้านดัชนีตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) และมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ปรับตัวดีขึ้นจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 4/51 และ มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันปรับสูงขขึ้นจากปี 51 และมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 5 ปี จากนักลงทุนทัวไปที่มีสัดส่วนซื้อขายสูง

สิ้นปี 52 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับตัวสูงขึ้น 63.25% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 51 โดยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET index) ปิดที่ 734.54 จุด ณ สิ้นปี 52 ขณะที่มีจุดต่ำสุดอยู่ที่ 411.27 จุดในเดือนมี.ค. และจุดสูงสุดที่ 751.86 จุดในเดือน ต.ค.

การปรับขึ้นของดัชนีหลักทรัพย์สะท้อนปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ปรับดีขึ้น โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ค่าอัตราส่วนระหว่างราคาหลักทรัพย์ ณ เวลาปัจจุบันและกำไรสุทธิต่อหุ้นคาดการณ์ (Forward P/E ratio) ของไทยปรับสูงขึ้นจากสิ้นปี 51 ที่ 7.0 เท่าเป็น 12.7 เท่า

ทั้งนี้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) รวมของ SET และ mai เพิ่มขึ้น 6.57%

ในปี 52 มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์มีมูลค่าสูงสุดในรอบ 5 ปีนับจากปี 48 โดยในปี 52 การซื้อขายหลักทรัพย์ของ SET และ mai มีมูลค่ารวม 4,428,979 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.25 จากปี 2551 และมีมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยรายวัน 18,226 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.08 จากปี 51

นักลงทุนทั่วไปในประเทศมีสัดส่วนการซื้อขายหลักทรัพย์สูงสุด ซึ่งมีสัดส่วนของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์สูงถึง 61% ของมูลค่าซื้อขายทั้งหมดและเป็นผู้ขายสุทธิ 37,027 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายลดลง เป็น 19.4% จาก 29.1% ในปี 51 อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างประเทศกลับเข้ามาเป็นผู้ซื้อสุทธิต่อเนื่องถึง 8 เดือนในช่วงมี.ค.-ต.ค.52 โดยในปี 52 นักลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิกว่า 38,013 ล้านบาท เทียบกับสถานะผู้ขายสุทธิ 162,357 ล้านบาทในปี 51

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปี 52 บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (Proprietary Trading) มีสัดส่วนมูลค่าซื้อขายสูงขึ้นเป็น 12.9% จากร้อยละ 9.8 ในปี 51 โดยเฉพาะในช่วงเดือนพ.ย.และ ธ.ค.52 ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์มีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงกว่า 15% ของมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์รวม โดยในปี 52 บริษัทหลักทรัพย์มีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิต่อเนื่องจากปี 51 โดยซื้อสุทธิ 1,486 ล้านบาท

ด้านมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์แยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมในปี 52 พบว่า สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายของกลุ่มอุตสาหกรรมหลักส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับสัดส่วนในปี 51 โดยกลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคาร และกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในปี 52 อยู่ที่ 36%, 21% และ 10% ตามลำดับ

ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 52 จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในแต่ละเดือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนความสนใจของนักลงทุนที่มากขึ้นตามการฟื้นตัวของดัชนีหลักทรัพย์ โดยในเดือนพ.ย.52 มีจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนเท่ากับ 127,976 บัญชี เพิ่มสูงขึ้น 41% จากเดือนม.ค.52 ที่มีจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนเท่ากับ 90,943 บัญชี

สำหรับภาวะการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ มีปริมาณเพิ่มขึ้น ทั้งด้านมูลค่าการซื้อขายและจำนวนบัญชีซื้อขายโดยเฉพาะการซื้อขาย SET50 Index Futures ที่เพิ่มขึ้นมากตามภาวะตลาดหลักทรัพย์ที่มีความผันผวนค่อนข้างมากตลอดทั้งปี โดยมีปริมาณการซื้อขายรวม 3.075 ล้านสัญญา เพิ่มขึ้น 43% จากปี 51 และเพิ่มขึ้นถึง 14 เท่านับจากปี 49 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) เท่ากับ 149% ในปี 52

นอกจากนี้ การซื้อขายสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold Futures) ซึ่งเริ่มการซื้อขายในปี 52 ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมากตามราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง

ด้านการระดมทุน ในปี 52 มีบริษัทจดทะเบียนเข้าระดมทุนในตลาดแรกทั้งหมด 17 บริษัท (เป็นบริษัทจดทะเบียนใน SET 6 บริษัท และใน mai 11 บริษัท) และกองทุนอสังหาริมทรัพย์จำนวน 5 กองทุน เทียบกับ 11 บริษัทและกองทุนอสังหาริมทรัพย์จำนวน 5 กองทุนในปี 51 อย่างไรก็ตาม มูลค่ารวมของการระดมทุนทั้งในตลาดแรกและตลาดรองปรับลดลงเมื่อเทียบกับปี 51 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการเงินทุนเพื่อการลงทุนในธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำ จากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวและกำลังการผลิตส่วนเกินในระดับสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ