บมจ.กุลธรเคอร์บี้(KKC)คาดว่าในปีนี้บริษัทน่าจะตั้งตัวได้ในแง่ของยอดขาย จึงมีช่องทางการในการเจรจาราคาขายได้เพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทมีแผนจะปรับขึ้นราคาสินค้าในสายการผลิตบางสายเฉลี่ย 3-7% แต่ไม่ได้ปรับทุกสาย เพราะยังต้องคำนึงในแง่ของคู่แข่งด้วย
"ช่วงที่ผ่านมาทุกบริษัทเป็นเหมือนกันพอเศรษฐกิจตก วัตถุดิบขึ้น ลูกค้าคงจ่ายแพงไม่ได้ ก็จะจ่ายเท่าเดิม แต่พอเศรษฐกิจขยาย ก็เริ่มยอมรับในส่วนราคาที่ปรับขึ้นได้"แหล่งข่าวจาก KKC กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
แหล่งข่าว กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าปี 53 ยอดขายโตไม่ต่ำกว่า 15% จากปีก่อน ซึ่งจะช่วยส่งผลให้กำไรสุทธิเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย โดยเฉพาะจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ 10-15% หลังจากปริมาณออร์เดอร์ที่เข้ามาเพิ่มขึ้น เพราะทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้นและต้นทุนต่อหน่วยลดลง
"แผนธุรกิจปีนี้เห็นโอกาสว่าจะขายได้มากขึ้น ยอดขายปรับขึ้น และไม่มีปัจจัยอื่นเช่นต้นทุนวัตถุดิบเหล็กและทองแดงปรับขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ผลกำไรน่าจะดี แต่ที่มองว่าจะมีอะไรที่หวือหวาเป็นพิเศษ ที่จะทำให้ผิดหูผิดตาไป..ยังไม่มี เราไม่เคยมี เพียงแต่มีโอกาสทางการตลาดดีขึ้นแน่นอน ซึ่งจะทำให้ยอดขายโตไม่ต่ำกว่า 15% ได้"แหล่งข่าว กล่าว
ส่วนยอดขายปี 52 ที่ผ่านมา คงจะต่ำกว่าปี 51 เล็กน้อยเพราะผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ แต่ยพื้นฐานธุรกิจของบริษัทยังค่อนข้างดี และที่สำคัญคือ บริษัท กุลธรพรีเมียร์ ที่อดีตเคยขาดทุนต่อเนื่อง เพิ่งจะพลิกมาเป็นกำไรตั้งแต่กลางปี 52 เป็นต้นมาทุกเดือน ดังนั้น ผลประกอบการของ KKC ที่เป็นกำไรอยู่แล้ว ก็อาจจะมีตัวเลขงบดุลดีขึ้นในปี 52 และต่อจากนี้ไป
สำหรับกลยุทธ์ในปีนี้บริษัทยังเน้นการขายในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ทั้ง direct และ indirect ประมาณ 80% ขณะที่ในด้านการผลิตจะมีการบริหารจัดการเพื่อให้ขั้นตอนการสั่งซื้อวัตถุดิบ การผลิต การสต็อกสินค้า ไปจนถึงการจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าใช้ระยะเวลาสั้นลง เพื่อให้ควบคุมผลเสียหายได้ดีขึ้น และไม่ให้ช้าเกินไป เพราะจะมีผลต่อราคาต้นทุนวัตถุดิบ โดยเฉพาะทองแดงที่มีการปรับเปลี่ยนทุกวัน
"ขั้นตอนทุกอย่างต้องมีระยะเวลาให้ดำเนินการได้เหมาะสม การจัดการติดต่อขนส่ง ต้องคุ้มค่าประหยัดที่สุด ทั้งฝ่ายเรา ผู้ขาย และส่งให้กับลูกค้าถ้าทำได้ดีก็จะช่วยกันประหยัดต้นทุนได้มาก ถ้าข้อมูลเปลี่ยนแปลงบ่อยก็ทำงานยาก"แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าว กล่าวว่า ทิศทางราคาทองแดงที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตคอมเพรสเซอร์มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นบ้างในขณะนี้ ถือว่าขึ้นมาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงแล้ว ส่วนทิศทางราคาเหล็กปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ยังไม่หวือหวามาก โดยมองว่าราคาทองแดงที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่กว่า 4,000-5,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน ผู้ประกอบการก็จะสบายตัวหน่อย เพราะก่อนหน้านี้ปรับขึ้นมามาก กำไรก็น้อยลงก็ต้องพยายามลดต้นทุนอื่นๆ